ป่วยโควิดอยู่ & ต้องดูแลสัตว์เลี้ยงด้วย ทำอย่างไร

คอลัมน์ความคิด 28 ก.ย. 64 | เข้าชม: 2,274

สิ่งที่ต้องเคร่งครัดเมื่อพบว่าเป็นโควิด-19 หรือ เป็นกลุ่มเสี่ยงที่กักตัวอยู่ คือ การป้องกัน โดยสวมหน้ากาก ล้างมือบ่อย ๆ และเว้นระยะห่างทางสังคม แยกพื้นที่กับคนอื่น ๆ ในครอบครัวอย่างเคร่งครัดเพื่อไม่ให้เชื้อแพร่กระจายและเพื่อความปลอดภัยของทุกคนในครอบครัว

นอกจากบุคคลในครอบครัวแล้ว บางครอบครัวยังมีสัตว์เลี้ยงที่เลี้ยงไว้ในครอบครัวหรือที่พักอาศัยอีกด้วย แล้วจะต้องปฏิบัติตัวอย่างไร หากเจ้าของติดโควิด-19 หรือกักตัวอยู่  เขาจะดูแลเหล่าลูก ๆ ตัวน้อยแสนน่ารักอย่างไรให้ปลอดภัยทั้งคนและสัตว์

สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับกลุ่มคนตัว D และภาคีเครือข่าย ริเริ่มโครงการ “เพื่อนกัน วันติดโควิด”  สื่อฟื้นฟูสุขภาวะผู้ป่วยและคนใกล้ชิดในสถานการณ์แพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 โดยพัฒนาช่องทางสื่อออนไลน์ ผ่านช่องรายการ “เพื่อนกัน วันติดโควิด” เพื่อฟื้นฟูสุขภาพทั้งด้านร่างกายและจิตใจที่เหมาะสมแก่คนไทย โดยเฉพาะผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่เข้ารักษาด้วยระบบ Home-Community isolation และสมาชิกในครอบครัว รวมถึงผู้ที่ต้องดูแลผู้ที่ติดเชื้อ

ช่วงหนึ่งของรายการเพื่อนกันวันติดโควิด เมื่อวันที่ 14 กันยายนที่ผ่านมา มีการพูดคุยถึงการแพร่ระบาดของโควิด-19 ระหว่างคนกับสัตว์ ข้อควรปฏิบัติตัวเพื่อให้สัตว์เลี้ยงปลอดภัยและห่างไกลโควิด-19 และข้อควรปฏิบัติสำหรับผู้ป่วยโควิด-19 ที่มีสัตว์เลี้ยง  โดย ผศ. น.สพ.รุ่งโรจน์ โอสถานนท์ นายกสมาคมสัตวแพทย์ผู้ประกอบการบำบัดโรคสัตว์แห่งประเทศไทย ให้ข้อมูลถึงประเด็นดังกล่าวว่า มีรายงานว่าสัตว์เลี้ยงสามารถติดโควิดได้แน่นอน  แต่ว่าปริมาณในภาพรวมของสัตว์ที่ติดเชื้อที่รายงานทั่วโลกอยู่ที่ 572 ตัว เพราะฉะนั้นสัดส่วนของสัตว์ที่ติดเชื้อเมื่อเทียบกับจำนวนคนติดเชื้อทั้งโลกก็ยังมีค่อนข้างน้อยอยู่  ในส่วนของอาการของสัตว์นั้น ตามที่มีรายงานส่วนมากจะไม่รุนแรงหรือไม่มีอาการ แต่ถ้ามีอาการ อาการก็จะคล้ายคนที่เป็น แต่ไม่รุนแรงมาก เช่น มีไข้ มีน้ำมูก ไอ จาม หรือถ้าเป็นหนักอาจจะมีปัญหาเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจได้เช่นเดียวกับคน หรือบางรายอาจจะมีอาการท้องเสีย อาเจียน

ในปัจจุบันยังไม่มีรายงานที่ยืนยันชัดเจนว่าสัตว์เลี้ยงสามารถแพร่เชื้อกลับไปหาคนได้ อย่างที่บอกว่าเวลามีอาการ อาการสัตว์เลี้ยงจะไม่รุนแรง เพราะฉะนั้นปริมาณเชื้อที่ออกมาก็อาจจะไม่ได้เยอะมาก โอกาสที่กลับมาติดคนไม่มีรายงาน แต่ในภาพรวมของสุนัขและแมวยังไม่มีรายงานการติดเชื้อย้อนกลับ เพราะฉะนั้นสิ่งที่เรากังวล ไม่ได้กังวลว่าสัตว์จะเป็นตัวแพร่เชื้อมาหาเรา แต่เราจะแพร่เชื้อไปให้สัตว์เลี้ยงมากกว่า” ผศ. น.สพ.รุ่งโรจน์ กล่าว

อย่างไรก็ตาม ไม่ควรที่จะต้องตื่นตระหนกจนเกินเหตุ แต่เราสามารถเฝ้าระมัดระวังได้ โดยใช้วิธีป้องกันตัวเอง ถึงแม้จะไม่มีรายงานว่าสัตว์แพร่เชื้อกลับสู่คน แต่ในเรื่องของสุขลักษณะที่ดีเราก็ควรจะมีการป้องกันในระดับหนึ่ง  โดย ผศ. น.สพ.รุ่งโรจน์  แนะนำดังนี้

1. หากเราเป็นผู้ป่วยแล้วเรามีสัตว์เลี้ยง เราก็ควรที่จะต้องสวมหน้ากาก สวมถุงมือ เวลาที่เราให้อาหารสัตว์ เวลาที่เราทำความสะอาดโรงสัตว์  เพื่อไม่ให้เชื้อจากเราแพร่ไปสู่ตัวสัตว์

2. เสมือนว่าสัตว์เลี้ยงคือคนในครอบครัว เพราะฉะนั้น หากเราป่วยอยู่บ้าน เราก็ไม่ควรเอาสัตว์เลี้ยงมานอนกอด หอม หรืออยู่ด้วยกัน เพราะว่าเราก็มีโอกาสปล่อยเชื้อไปให้สัตว์เหล่านั้น เช่นเดียวกับคนเลยคือ ต้องแยกสัตว์ออกไปอยู่อีกห้องหนึ่ง หรือพื้นที่หนึ่งที่ห่างไกลจากเรา ก็จะช่วยป้องกันการแพร่เชื้อกับเราเข้าไปสู่สัตว์ได้

3. หากบังเอิญไปเผลอจับ ต้องล้างมือด้วยสบู่ปกติหรือล้างมือกับเจลแอลกอฮอล์ตามที่แนะนำในคน

นอกจากนี้ ผศ. น.สพ.รุ่งโรจน์ ยังบอกอีกว่า สิ่งที่ต้องระวังคือ บางคนตกใจและตระหนกเกินเหตุ แล้วนำแอลกอฮอล์ไปราดตัวสัตว์ ซึ่งการกระทำดังกล่าวจะทำไม่ได้  ถ้าจะทำความสะอาดสัตว์ก็ทำเหมือนอาบน้ำสัตว์ปกติ ใช้แชมพูสำหรับสัตว์ในการอาบน้ำสัตว์ เพราะเชื้อตัวนี้ฆ่าได้ไม่ยาก  ดังนั้น ห้ามเอายาฆ่าเชื้อใด ๆ ก็ตามไปเท ไปราด ไปฟอกตัวสัตว์ เพราะจะเป็นผลเสียมากกว่าผลดี  เราใช้การป้องกันโดยการใส่ถุงมือหรือหน้ากากน่าจะดีกว่า

ในปัจจุบันข้อแนะนำในการดูแลสัตว์เลี้ยงที่ผู้ป่วยเป็นโควิด-19  ผศ. น.สพ.รุ่งโรจน์ แนะนำให้ดูแลเองที่บ้าน ไม่แนะนำให้เอาไปฝากที่โรงพยาบาล ด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้

1. สัตว์จะมีความเครียดสูง เราควรจะให้เขาอยู่ในที่ที่อยู่ปกติ

2. โอกาสที่สัตว์ได้รับเชื้อจากเจ้าของเองก็ไม่ได้เยอะมาก ถ้าไม่ได้คลุกคลีแบบใกล้ชิด แค่ดูแลที่บ้านตามปกติ แยกเขาให้อยู่ในโซนของเขา ไม่ให้ใกล้ชิดกับผู้ป่วยก็พอ เพราะหลักการโดยทั่วไปตอนนี้พยายามให้ดูแลที่บ้านเป็นหลัก

แต่ถ้าผู้ป่วยไม่ได้ Home Isolation  ผู้ป่วยต้องเข้าไปอยู่ที่โรงพยาบาล ไม่มีเพื่อนหรือญาติพี่น้องอยู่ที่บ้าน ทำได้ 2 กรณี คือ

1. ให้เพื่อน ญาติ ไปให้อาหารตามเวลาเฉย ๆ  โดยใส่ถุงมือ สวมหน้ากาก ให้อาหารเสร็จก็กลับ โดยที่ไม่ต้องเคลื่อนย้ายตัวสัตว์

2. มีความจำเป็นต้องไปฝากสถานพยาบาลสัตว์ ต้องโทรไปแจ้งสถานพยาบาลสัตว์ให้ทราบก่อนว่าเราป่วยด้วยโควิด เราไม่มีใครที่สามารถดูแลสัตว์ได้ และต้องถามว่าสถานพยาบาลสัตว์นั้น ๆ พร้อมที่จะดูแลหรือไม่ เพราะเราต้องไม่ลืมว่าสถานพยาบาลสัตว์ ก็จะมีสัตว์เลี้ยงตัวอื่น ๆ ที่มารับการรักษา และจะมีเจ้าของสัตว์เข้ามาด้วย ดังนั้น สถานพยาบาลสัตว์ที่เราดูแลสัตว์กลุ่มนี้ได้ก็ต้องเป็นสถานพยาบาลสัตว์ค่อนข้างใหญ่ และมีห้องที่แยกโดยเฉพาะ

ผศ. น.สพ.รุ่งโรจน์ ยังฝากถึงการเลี้ยงสัตว์แบบวิถีใหม่ว่า เคยปฏิบัติอย่างไรก็ทำเหมือนเดิม เพียงแต่อาจจะต้องรักษาความสะอาดในภาพรวมมากขึ้น พยายามหลีกเลี่ยงไม่ใกล้ชิดมากจนเกินไป  และมีการป้องกันตนเองในระดับที่เหมะสม สวมหน้ากาก ล้างมือบ่อย ๆ และเว้นระยะห่าง

เป็นโควิด-19 ก็นับว่าลำบากแล้ว แต่เมื่อลองนึกดูก็มีอีกหลายปัญหาที่ส่งผลกระทบตามมา ดังนั้น รายการ “เพื่อนกัน วันติดโควิด” ที่ สสส.และภาคีเครือข่าย จัดขึ้นนั้นเป็นอีกหนึ่งช่องทางที่มีแนวคิดให้ความรู้สึกเป็นเพื่อน มีข้อมูลที่เชื่อถือได้ และเป็นพื้นที่แห่งการแบ่งปันกำลังใจ

 

เรื่องโดย เทียนทิพย์ เดียวกี่ Team Content www.thaihealth.or.th
ข้อมูลจากรายการเพื่อนกันวันติดโควิด ประจำวันที่ 14 กันยายน 2564

ผู้ที่สนใจรับชมรายการ “เพื่อนกัน วันติดโควิด” สามารถติดตามที่เฟซบุ๊กแฟนเพจ www.facebook.com/HomeIsolationFriends และยูทูบ เพื่อนกันวันติดโควิด และ AIS Play ทุกวันไปจนถึง 31 ตุลาคม 2564  ตั้งแต่เวลา 15.00-21.00 น.