รองนายกฯ อนุทิน ประกาศจุดยืน ไทยไม่สนับสนุนบุหรี่ไฟฟ้าทุกรูปแบบ ป้องกันสุขภาพเด็ก เยาวชน ตั้งแต่ต้นทาง เร่งบังคับใช้กม. อย่างเคร่งครัด เวทีประชุมวิชาการบุหรี่กับสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 20

ข่าว/กิจกรรม 29 ส.ค. 65 | เข้าชม: 1,517
รองนายกฯ อนุทิน ประกาศจุดยืน ไทยไม่สนับสนุนบุหรี่ไฟฟ้าทุกรูปแบบ ป้องกันสุขภาพเด็ก เยาวชน ตั้งแต่ต้นทาง เร่งบังคับใช้กม. อย่างเคร่งครัด เวทีประชุมวิชาการบุหรี่กับสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 20 ชี้ บุหรี่ไฟฟ้าเป็นภัยซ่อนเร้นในสังคม รวมงานวิจัยทั่วโลกเกือบ 7 พันชิ้น พบโรคแทรกซ้อนจากบุหรี่ไฟฟ้าทุกระบบในร่างกาย เสี่ยงปอดอุดกั้นเพิ่ม 49% ไม่ช่วยเลิกสูบ แถมเป็นจุดเริ่มต้นสารเสพติดอื่น
เมื่อวันที่ 29 สิงหาคม ที่แพทยสมาคมแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ (ศจย.) ร่วมกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และภาคีเครือข่ายควบคุมยาสูบ จัดการประชุมวิชาการบุหรี่กับสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 20 เรื่อง “บุหรี่ไฟฟ้า ภัยซ่อนเร้นในสังคม”
 

โดยนายอนุทิน ชาญวีรกุล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการะทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า บุหรี่ไฟฟ้าไม่ใช่เรื่องใหม่ ทั่วโลกทราบดีว่า บุหรี่ไฟฟ้าไม่ปลอดภัย และทำให้มีนักสูบหน้าใหม่เกิดขึ้น สำนักงานสถิติแห่งชาติ ปี 2564 สำรวจพบคนไทยอายุ 15 ปีขึ้นไป สูบบุหรี่ไฟฟ้าถึง 80,000 คน ในจำนวนนี้มากกว่าครึ่งเป็นเยาวชนอายุ 15 - 24 ปี สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือ บุหรี่ไฟฟ้าทำให้เยาวชนที่ไม่เคยคิดจะสูบบุหรี่เลย เริ่มต้นอยากลองสูบบุหรี่เร็วขึ้น ทำให้มีโอกาสได้รับผลกระทบจากควันบุหรี่นานขึ้นตามไปด้วย บุหรี่ไฟฟ้าก่อให้เกิดผลกระทบในวงกว้าง ทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะมีผลทำลายสมองที่กำลังเติบโตของเด็กและเยาวชน ซึ่งถือเป็นอนาคตของชาติ เป็นทรัพยากรที่มีค่ามหาศาลที่เราทุกคนจะต้องดูแล ส่งเสริมให้มีการเรียนรู้ และพัฒนาอย่างมาก เพื่อให้ทันต่อการพัฒนาประเทศไทยในทุกมิติ
 

“จุดยืนของไทยคือ ไม่สนับสนุนบุหรี่ไฟฟ้า ปัจจุบันมาตรการและประสบการณ์ของประเทศต่างๆ ไม่มีมาตรการอื่นใดที่มีประสิทธิภาพในการปกป้องเยาวชนไม่ให้เข้าถึงบุหรี่ไฟฟ้า และทดลองเสพบุหรี่ไฟฟ้าได้ ดังนั้นจึงควรป้องกันที่ต้นทางคือ การห้ามนำเข้าและห้ามขายบุหรี่ไฟฟ้า ตลอดจนดำเนินการตามอนุสัญญาพิธีสารว่าด้วยการจัดการการค้าผลิตภัณฑ์ยาสูบที่ผิดกฎหมาย และบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด” รองนายกรัฐมนตรี กล่าว
ผศ.ดร.นพ.วิชช์ เกษมทรัพย์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ (ศจย.) กล่าวว่า จากการรวบรวมงานวิจัยต่างประเทศ ปี 2014-2021 มีถึง 6,971 ชิ้น พบรายงานโรคแทรกซ้อนจากบุหรี่ไฟฟ้า ได้แก่ ระบบทางเดินหายใจ 49% ระบบหัวใจและหลอดเลือด 13% ช่องปากและฟัน 18% สมอง 7% ตับ 2.9% ผิวหนัง 2.9% และระบบอื่นๆ 19% องค์การอนามัยโลก สรุปว่า บุหรี่ไฟฟ้ามีอันตรายต่อทุกระบบของร่างกาย สารนิโคตินที่มีฤทธิ์เสพติดสูงสุดและออกฤทธิ์ทำให้หลอดเลือดหดตัว ส่งผลให้เลือดไปเลี้ยงส่วนต่างๆ ของร่างกายน้อยลง และยังมีสารมีพิษอื่นๆ เพิ่มความเสี่ยงเกิดโรคหลอดเลือดสมองตีบหรือแตกมากขึ้น สอดคล้องกับสมาคมโรคหัวใจอเมริกา ระบุว่า บุหรี่ไฟฟ้า เพิ่มความเสี่ยงของโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด 1.8 เท่า ทำให้ปอดอักเสบ มีความเสี่ยงโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังเพิ่มขึ้น 49% โรคหอบหืดเพิ่มขึ้น 39% บุหรี่ไฟฟ้าทั้งมือหนึ่งและมือสองมีผลต่อพัฒนาการทางสมองของทารกในครรภ์ ทำให้มีความผิดปกติของระบบประสาท เป็นโรคสมาธิสั้น น้ำหนักแรกเกิดน้อย โดยเฉพาะสมองที่กำลังพัฒนาของเด็กและเยาวชนอายุถึง 25 ปี ทำให้ประสิทธิภาพการทำงานของสมองลดลงมากกว่าเด็กที่ไม่เคยสูบ 3-4 เท่า
“บุหรี่ไฟฟ้าไม่ช่วยเลิกบุหรี่ ยังเป็นประตูนำไปสู่การสูบบุหรี่มวน และสารเสพติดอื่น เช่น กัญชา แอลกอฮอล์ มีโอกาสสูบบุหรี่มวนในอนาคต 3.29 เท่า คนที่ใช้บุหรี่ไฟฟ้าเพื่อเลิกบุหรี่มวนจะกลับมาสูบบุหรี่มวน 4.4 เท่า ในด้านความสูญเสียทางเศรษฐกิจ จากงานวิจัยของสหรัฐฯ ค่ารักษาพยาบาลจากการสูบบุหรี่ไฟฟ้าสูงถึงปีละกว่า 5 แสนล้านบาท สูงกว่ารายได้จากภาษีบุหรี่ไฟฟ้าที่จัดเก็บได้เพียง 300 ล้านบาท การสูบบุหรี่ไฟฟ้าทำให้เกิดกลุ่มควันฝุ่น PM 2.5 และเกิดมลภาวะต่อสิ่งแวดล้อมอีกด้วย” ผศ.ดร.นพ.วิชช์ กล่าว
ศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ ประธานมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ กล่าวว่า มาตรการควบคุมบุหรี่ไฟฟ้าทั่วโลก มี 2 รูปแบบ คือ 1.ห้าม และ 2.ควบคุมโดยแยกย่อยเป็นผลิตภัณฑ์ยา 3.ห้ามส่วนประกอบ 4.ควบคุมเหมือนกับสารพิษ 5.ควบคุมเหมือนกับผลิตภัณฑ์ยาสูบ 6.ควบคุมเหมือนกับสินค้าอุปโภคบริโภค และ 7.ควบคุมเหมือนสินค้าเฉพาะ หากประเทศไทยใช้เพียงมาตรการที่ 3-7 จะทำให้เกิดการเสพติดนิโคตินต่อเนื่องทั้งสิ้น อีกทั้งไม่ได้ปกป้องเยาวชนจากการทดลองใช้และเสพ ส่วนมาตรการที่ 2 สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุข เคยให้ข้อมูลต่ออนุกรรมาธิการสาธารณสุข สภาผู้แทนราษฎร ว่า บริษัทบุหรี่ไฟฟ้า ควรนำมาขึ้นทะเบียน ให้ อย. ตรวจสอบ และพิสูจน์ได้ว่าเป็นผลิตภัณฑ์ควบคุมเพื่อใช้ในการเลิกสูบบุหรี่ แต่จนถึงปัจจุบันยังไม่มีผู้ผลิตรายใดมาขอขึ้นทะเบียนเป็นผลิตภัณฑ์เพื่อเลิกสูบบุหรี่กับ อย.
ศ.พญ.สมศรี เผ่าสวัสดิ์ ประธานสมาพันธ์เครือข่ายแห่งชาติเพื่อสังคมไทยปลอดบุหรี่ กล่าวว่า บุหรี่ไฟฟ้าไม่ได้เป็นสารทดแทนในการเลิกสูบบุหรี่ แต่เป็นจุดเริ่มต้นในการเสพติดบุหรี่หรือสารเสพติดประเภทอื่นในเด็กและเยาวชน สมาพันธ์เครือข่ายแห่งชาติเพื่อสังคมไทยปลอดบุหรี่ ร่วมกับภาคีเครือข่าย ขอยืนยัน 9 เหตุผลที่ไทย ต้องคงมาตรการห้ามนำเข้าและห้ามขายบุหรี่ไฟฟ้า 1.เป้าหมายของผู้ผลิตบุหรี่ไฟฟ้าคือ เด็กและเยาวชน 2.บุหรี่ไฟฟ้าเป็นต้นทางของการสูบบุหรี่ธรรมดาของเด็กและเยาวชน 3.บุหรี่ไฟฟ้าเป็นอันตราย ทำลายสุขภาพ 4.นิโคติน ทำให้เสพติด อันตรายเกินคาด 5.บุหรี่ไฟฟ้าไม่ได้ช่วยให้เลิกบุหรี่ได้จริง 6.บุหรี่ไฟฟ้าส่งผลเสียต่อสังคมมากกว่าผลดี 7.บุหรี่ไฟฟ้าจะทำให้ไทยถอยหลังในการควบคุมยาสูบ 8.การห้ามจำหน่ายบุหรี่ไฟฟ้าคือ มาตรการสำคัญในการปกป้องเด็กจากการตกเป็นเหยื่อ และ 9.ควรยึดนโยบาย "ปลอดภัยไว้ก่อน" เพราะชีวิตคนไทยมีค่าเกินกว่าจะเอาไปเสี่ยง ทั้งนี้ ไทยเป็นประเทศที่ 12 ของโลกที่ห้ามขายบุหรี่ไฟฟ้า ตั้งแต่ปี 2557 และยังมีมีประเทศใดยกเลิกกฎหมายห้ามขายบุหรี่ไฟฟ้าที่ออกมาแล้ว จึงขอให้ทุกฝ่ายช่วยกันปกป้องกฎหมายห้ามขายบุหรี่ไฟฟ้าของไทย เพื่อคุ้มครองเยาวชนไทยจากการเสพติดบุหรี่ไฟฟ้า
นพ.สุรเชษฐ์ สถิตนิรมัย รองประธานกรรมการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ คนที่ 2 กล่าวว่า สสส. ให้ความสำคัญกับปัญหาผลกระทบจากบุหรี่ไฟฟ้าที่แพร่ระบาดในกลุ่มเด็กและเยาวชนอย่างหนัก จากผลสำรวจภาวะสุขภาพนักเรียนในประเทศไทย ปี 2564 โดยองค์การอนามัยโลก พบนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น มีการใช้บุหรี่ไฟฟ้าถึง 13.6% บุหรี่ไฟฟ้า 1 แท่ง มีสารนิโคตินเท่ากับบุหรี่ซอง 20 มวน นิโคตินเป็นสารพิษทำลายสมอง จึงนับเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่มีผลกระทบต่อสุขภาพของเด็กและเยาวชนโดยตรง สสส. จึงร่วมกับภาคีเครือข่าย เร่งสนับสนุนข้อมูลด้านวิชาการและระบบข้อมูลข่าวสารสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องของสังคมในประเด็น Hot Issue เช่น บุหรี่/บุหรี่ไฟฟ้ากับโรคระบาดไวรัสโควิด-19 บุหรี่กับกัญชา และการปลูกพืชทดแทนใบยาสูบ เพื่อเสริมสร้างความรู้รอบทางสุขภาพด้านการควบคุมยาสูบให้แก่ประชาชนให้สามารถตระหนักและรับรู้ข้อมูลที่ถูกต้อง นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมที่เหมาะสม
ดร.ปนัดดา วงษ์ผู้ดี โฆษกคณะกรรมการควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบแห่งชาติ กล่าวว่า ในฐานะสื่อมวลชน ขอให้สื่อมวลชนทุกแขนงเป็นกระบอกเสียงว่าทำไมไทยต้องแบนบุหรี่ไฟฟ้าและรายงานข้อเท็จจริงเกี่ยวกับบุหรี่ไฟฟ้าให้ประชาชนทราบ มีข้อเรียกร้อง 2 ประการ คือ 1.ขอให้ทุกภาคส่วนร่วมกันให้ความรู้เยาวชน ให้รู้เท่าทันพิษภัยของบุหรี่ไฟฟ้า และต้องทำหน้าที่ปกป้องเยาวชนไม่ให้ตกเป็นเหยื่อของบุหรี่ไฟฟ้า 2.ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัดในการควบคุมไม่ให้บุหรี่ไฟฟ้าเข้าถึงเยาวชน ซึ่งเป็นหนึ่งในข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรีให้กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เร่งรัดปราบปรามบุหรี่ไฟฟ้าทุกช่องทาง ซึ่งขณะนี้ในสื่อออนไลน์มีการบิดเบือนข้อมูลให้เข้าใจผิดว่าบุหรี่ไฟฟ้าปลอดภัยไม่อันตรายเพื่อจูงใจให้มาสูบบุหรี่ไฟฟ้าจำนวนมาก
รายละเอียดติดต่อ : หริสร์ ทวีพัฒนา นักวิชาการ ศจย.
โทร: 061-7244411 Email: beer_manubu@windowslive.com