WHO ย้ำ ผู้สูบบุหรี่เสี่ยงติดโควิด ทำอาการรุนแรง โอกาสเสียชีวิตสูง

ข่าว/กิจกรรม 24 พ.ค. 64 | เข้าชม: 1,808

WHO เตือนกลุ่มผู้สูบบุหรี่ หากติดเชื้อต้องเผชิญความรุนแรง อัตราเสียชีวิตเพิ่ม ทำให้เม็ดเลือดขาวสู้กับเชื้อโรคได้น้อยลง ภูมิต้านทานปอดน้อยชวนเลิกสูบ

ศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ ประธานมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ กล่าว่า องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้กำหนดประเด็นรณรงค์วันงดสูบบุหรี่โลก 31 พฤษภาคมปีนี้ว่า  "Commit to quit" หรือมุ่งมั่นที่จะเลิกสูบ เพื่อลดเสี่ยงการติดโควิด-19 รวมถึงผลกระทบทางสุขภาพโรคต่างๆ

โดย WHO ได้เผยแพร่เอกสารที่ระบุเหตุผลมากกว่า 100 ข้อ (More than 100 reasons to quit tobacco) ที่คนสูบบุหรี่/บุหรี่ไฟฟ้าควรที่จะะเลิก ซึ่งหากว่ากว่า 100 เหตุผลที่ควรเลิกสูบบุหรี่ ยังไม่เพียงพอที่จะทำให้เลิกสูบบุหรี่ เหตุผลใหม่ที่ควรจะเลิกในปีนี้คือ คนสูบบุหรี่มีความเสี่ยงมากขึ้นที่จะเกิดโรคโควิด-19 รุนแรงและเสียชีวิต โดยสารพิษจากควันบุหรี่ทำให้ภูมิคุ้มกันลดลง ทำให้ผู้สูบบุหรี่เสี่ยงต่อการติดเชื้อทางเดินหายใจ วัณโรค รวมถึงโควิด-19

ศ.นพ.ประกิต กล่าวต่อว่า ปอดเป็นอวัยวะภายในชนิดเดียวที่ติดต่อกับสิ่งแวดล้อมภายนอกตลอดเวลา จากการหายใจเอาอากาศเพื่อนำออกซิเจนเข้าสู่ร่างกาย พร้อมขับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งเป็นก๊าซเสียออกจากร่างกาย หากมีสิ่งแปลกปลอม หรือมีเชื้อโรคล่องลอยอยู่ในอากาศ ก็จะถูกลมหายใจพาเข้าสู่ปอดด้วย ซึ่ง WHO ได้ประกาศว่า เชื้อโควิด-19 สามารถล่องลอยในอากาศเป็นเวลาหลายชั่วโมง หากอยู่ในที่ที่อากาศถ่ายเทไม่ดีหรือในห้องปรับอากาศ คนที่เป็นโควิด-19 หากไอ จาม พูดหรือตะโกนเสียงดัง เชื้อโควิด-19 ก็จะล่องลอยอยู่ในอากาศในบริเวณนั้นด้วย ทำให้ง่ายต่อการแพร่เชื้อไวรัส

ศ.นพ.ประกิต กล่าวอีกว่า รายงานจากประเทศสรุปตรงกันว่า คนที่สูบบุหรี่เสี่ยงที่จะป่วยเป็นโควิดรุนแรงและเสียชีวิต โดยสหรัฐอเมริกา พบว่า วัยรุ่นที่สูบบุหรี่ไฟฟ้ามีความเสี่ยงติดเชื้อโควิด-19 เพิ่มขึ้น 5--7 เท่า และยังมีงานวิจัยพบว่า บุหรี่ไฟฟ้าทำอันตรายต่อเซลล์บุทางเดินหายใจ ทำให้เม็ดเลือดขาวสู้กับเชื้อโรคได้น้อยลง ทำให้ขนเล็กๆ บนผิวเซลล์ที่โบกขจัดของเสียทำงานลดลง ภูมิต้านทานปอดลดลง การแลกเปลี่ยนก๊าซของปอดผิดปกติโควิด-19 จึงจู่โจมและทำอันตรายจนปอดบวม 

"แม้ว่าการเลิกสูบบุหรี่จะไม่ใช่เรื่องง่ายในภาวะเครียดที่เกิดจากการระบาดของโควิด-19 แต่ก็เป็นเรื่องอยากขอให้คนที่สูบบุหรี่ตัดสินใจเลิกสูบ ซึ่งคนที่ไม่สามารถเลิกได้ด้วยตนเอง สามารถที่จะขอคำปรึกษา รักษาการติดบุหรี่จากสถานพยาบาลทุกแห่ง รวมทั้งขอรับบริการจากสายเลิกบุหรี่ 1600 โทรฟรีทุกเครือข่าย ทั้งนี้ในปีที่ผ่านมา ประเทศอังกฤษที่มีโควิดระบาดหนัก มีคนที่เลิกสูบบุหรี่ได้ถึงหนึ่งล้านคน" ศ.นพ.ประกิต กล่าว

 

ข้อมูลจาก 

https://today.line.me/th/v2/article/Xo8Bpw?fbclid=IwAR3TChTxELVgh3e3hJ3nULW5i4ZnjXE4UtkDfhvJNm_JgDnB6NQQ8nV8Yys