รัฐบาลไทยควรทำอย่างไรกับสินค้าบุหรี่ในเอฟทีเอ

คอลัมน์ความคิด 24 ก.พ. 57 | เข้าชม: 2,600

จดหมายเปิดผนึกถึงนายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์  ชินวัตร

รัฐบาลไทยควรทำอย่างไรกับสินค้าบุหรี่ในเอฟทีเอ

 

 กราบเรียน ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี  

 

 ตามที่ระยะนี้มีการเคลื่อนไหวจากภาคประชาสังคม เรียกร้องให้รัฐบาลตัดบุหรี่และเหล้าออกจากรายการสินค้าที่จะรวมอยู่ในการเจรจาเปิดการค้าเสรี  ทั้งระดับทวิภาคี (ประเทศต่อประเทศ)  และพหุภาคี (ประเทศต่อกลุ่มประเทศ หรือกลุ่มประเทศต่อกลุ่มประเทศ)

 

 มีคำถามว่า  ก็ประเทศไทยเปิดเสรีสินค้ายาสูบมานานแล้ว เขตการค้าเสรีของอาเซียนหรืออาฟต้า ภาษีนำเข้าบุหรี่ต่างประเทศก็เป็นสูญแล้วทำไมยังต้องยืนยันให้นำสินค้าบุหรี่ออกจากการเจรจาเอฟทีเอของประเทศไทยกับประเทศต่าง ๆ อีก

 

แสดงว่าคนจำนวนมากยังไม่เข้าใจเรื่องนี้ดีว่าขณะนี้การค้าบุหรี่ระหว่างประเทศ อาศัยกติกาขององค์การค้าโลกหรือดับเบิลยูทีโอ  นั่นคือ  ประเทศต่าง ๆ สามารถออกกฎหมายควบคุมยาสูบที่เข้มงวดเพื่อปกป้องสุขภาพของประชาชนได้ตามมาตรา 20 บีของกฎองค์การค้าโลก

 

มีข้อแม้อยู่ว่า  กฎหมายที่ออกมานั้นต้องปฏิบัติอย่างเท่าเทียมกัน  ระหว่างสินค้าผลิตภายในประเทศและสินค้านำเข้า

 

การควบคุมยาสูบของประเทศต่าง ๆ รวมทั้งของประเทศไทยอยู่ภายใต้เงื่อนไขนี้ ในระยะยี่สิบกว่าปีที่ผ่านมา

 

แต่เอฟทีเอ ที่กำลังมีการเจรจากันในขณะนี้  เช่นไทยกับสหภาพยุโรปหรืออียู หรือที่ไทยกำลังจะเข้าร่วมเจรจากับทีพีพีเอ (Trans Pacific Partnership Agreement) ได้มีการเพิ่มประเด็นเรื่อง “การลงทุน”  เข้ามาด้วย  

 

จะมีการกำหนดเงื่อนไขที่บริษัทธุรกิจเอกชนสามารถที่จะฟ้องรัฐบาลหากคิดว่ากฎระเบียบที่ออกมา  กระทบต่อผลประโยชน์ของตน  โดยฟ้องไปที่อนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศ  แทนการฟ้องศาลหรือฟ้ององค์การค้าโลก

 

ซึ่งเงื่อนไขที่ว่านี้  เป็นเงื่อนไขที่มากกว่าที่ประเทศคู่สัญญาจะต้องปฏิบัติภายใต้กฎขององค์การค้าโลกหรือดับเบิลยูทีโอ หรือที่ภาษาอังกฤษเรียกว่า Beyond WTO หรือนอกเหนือดับเบิลยูทีโอ

 

การคุ้มครองการลงทุนสำหรับธุรกิจเอกชน  อาจจะไม่มีปัญหาเท่าไรสำหรับสินค้าหรือธุรกิจทั่วไป  แต่ไม่ควรรวมธุรกิจยาสูบหรือสุราอยู่ด้วย  เพราะเป็นสินค้าเสพติดที่ทำลายสุขภาพ

 

เรื่องนี้มีกรณีพิพาทเกิดขึ้นแล้ว  เรื่องมีอยู่ว่า  รัฐบาลอุรุกวัยออกประกาศให้บริษัทบุหรี่พิมพ์คำเตือนบนซองบุหรี่ขนาด 80%ตั้งแต่ปี พ.ศ.2552บริษัทบุหรี่ฟ้องศาลในประเทศอุรุกวัย  แต่ศาลยกฟ้อง  

 

บริษัทบุหรี่ข้ามชาติ  ซึ่งมีฐานในประเทศสวิสเซอร์แลนด์ อาศัยข้อตกลงการค้าระหว่างประเทศอุรุกวัยกับสวิสเซอร์แลนด์  ฟ้องอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศ กล่าวหาว่าการที่รัฐบาลอุรุกวัยออกกฎหมายให้พิมพ์คำเตือนขนาด 80%กระทบต่อการขายสินค้ายาสูบของบริษัทบุหรี่ในประเทศอุรุกวัย

 

กรณีพิพาทนี้ยังอยู่ในระหว่างการเป็นคดีความกันอยู่

 

ที่น่าสนใจคือ  กรณีคำเตือนขนาด 80%ของอุรุกวัยนี้  ไม่มีใครฟ้องไปที่องค์การค้าโลกหรือดับเบิลยูทีโอ  ว่าคำเตือนมีขนาดใหญ่เกินไป

 

เชื่อกันว่าบริษัทบุหรี่รู้ดีว่า  หากนำเรื่องขนาดภาพคำเตือนไปฟ้องดับเบิลยูทีโอ บริษัทบุหรี่จะเป็นฝ่ายแพ้  คงศึกษากฎหมายมาอย่างดีแล้ว

 

วกกลับมาเรื่องเอฟทีเอของไทยกับประเทศต่าง ๆ ในขณะนี้เป็นเรื่อง “Beyond WTO”  หรือเงื่อนไข  “นอกเหนือดับเบิลยูทีโอ” โดยจะมีเรื่องการลงทุนที่บริษัทเอกชนสามารถจะฟ้องรัฐบาลคู่สัญญาได้  หากเห็นว่ารัฐบาลออกกฎระเบียบที่กระทบต่อสินค้าของตน

 

ซึ่งถ้าหากสินค้าบุหรี่ถูกรวมอยู่ด้วย  และได้รับสิทธิเหมือนกับสินค้าอื่น ๆ 

 

กฎระเบียบที่รัฐบาลไทยจะออกมาใหม่เพื่อการควบคุมยาสูบตามพันธกรณีที่มีภายใต้กรอบอนุสัญญาควบคุมยาสูบ  องค์การอนามัยโลก  แม้จะไม่ขัดต่อกฎระเบียบขององค์การค้าโลก

 

แต่อาจจะถูกบริษัทบุหรี่ฟ้องร้องอนุญาโตตุลาการโลกว่า  ขัดต่อข้อตกลงเอฟทีเอที่รัฐบาลไทยทำไว้กับประเทศคู่ค้า ดังเช่นที่เกิดขึ้น  กรณีประเทศอุรุกวัยก็ได้

 

นี่เป็นที่มาว่า  ทำไมจึงต้องไม่ให้มีสินค้าบุหรี่อยู่ในเอฟทีเอ ถ้าหากเป็นไปได้

 

ซึ่งถึงสินค้าบุหรี่ไม่ได้อยู่ในรายการสินค้าภายใต้เอฟทีเอ ธุรกิจและสินค้าบุหรี่ ก็ได้รับสิทธิ์คุ้มครองภายใต้กฎเกณฑ์ขององค์การค้าโลก  ซึ่งประเทศไทยยอมรับอยู่แล้ว

 

เพราะฉะนั้นการที่ธุรกิจและสินค้าบุหรี่ไม่ได้อยู่ในเอฟทีเอ  ประเทศไทยก็จะออกกฎระเบียบในการควบคุมสินค้าบุหรี่ได้ภายใต้กรอบขององค์การค้าโลกเท่านั้น  หาใช่ว่าจะทำอะไรกับสินค้าบุหรี่ก็ได้ตามใจชอบ

 

เพราะบริษัทบุหรี่จะฟ้องเราทันทีที่เขาเห็นว่า  เราออกกฎระเบียบอะไรที่ขัดกับกฎขององค์การค้าโลก

 

แต่ถ้าหากยังให้สินค้าบุหรี่อยู่ในเอฟทีเอ

 

รัฐบาลไทยต้องยืนยันว่า  ประเทศไทยมีความชอบธรรม  ที่จะปฏิบัติต่อสินค้าบุหรี่ ภายใต้เงื่อนไขการค้าระหว่างประเทศขององค์การค้าโลกเท่านั้นไม่มีประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการลงทุนเหมือนสินค้าอื่น

 

ซึ่งท่าทีนี้เป็นท่าทีของรัฐบาลออสเตรเลียในการเจรจากรอบการค้าเสรีทีพีพีเอ ซึ่งออสเตรเลียร่วมกับสหรัฐอเมริกา  เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงในการเจรจากรอบนี้  เพราะออสเตรเลียไม่ต้องการให้กฎหมายซองบุหรี่แบบเรียบของตัวเอง  ที่ห้ามบริษัทบุหรี่พิมพ์โลโกบนซองบุหรี่  จะตกอยู่ในข่ายที่จะถูกบริษัทบุหรี่ฟ้อง  ภายใต้กรอบทีพีพีเอ

 

กรณีกฎหมายซองบุหรี่แบบเรียบนี้  ประเทศฮอนดูรัสได้ฟ้องไปที่ดับเบิลยูทีโอ  ว่าออสเตรเลียละเมิดเครื่องหมายการค้าของบริษัทบุหรี่  ซึ่งรัฐบาลออสเตรเลียประเมินแล้วว่า  ดับเบิลยูทีโอจะตัดสินให้ออสเตรเลียชนะ

 

และล่าสุดรัฐบาลอังกฤษเพิ่งประกาศว่าจะออกกฎหมายซองบุหรี่แบบเรียบเหมือนกับที่ออสเตรเลียออกมาใช้แล้ว  น่าจะแสดงว่าอังกฤษก็ได้วิเคราะห์อย่างถี่ถ้วนแล้วว่า  กฎหมายซองบุหรี่แบบเรียบจะไม่ขัดต่อกฎระเบียบของดับเบิลยูทีโอเช่นกัน

 

ดังนั้นรัฐบาลไทยสามารถเดินหน้าเจรจาข้อตกลงการค้าเสรีกับประเทศต่าง ๆ ได้ แต่ต้องยืนหยัดในการเจรจาเอฟทีเอว่าสินค้าบุหรี่  เราจะปฏิบัติตามกฎระเบียบของดับเบิลยูทีโอที่ประเทศไทยมีพันธกรณีเท่านั้น

 

สิทธิของธุรกิจเอกชนที่จะมีต่อสินค้าของตน  ที่จะมีนอกเหนือกฎการค้าเสรีขององค์การค้าโลก  ต้องไม่ใช่สินค้าบุหรี่

 

เพราะบุหรี่เป็นทั้งสินค้าเสพติด

ที่คร่าชีวิตครึ่งหนึ่งของคนที่ไม่เลิกสูบทั่วโลกปีละหกล้านคน

และประเทศไทยปีละห้าหมื่นกว่าคน

 

 

 

ขอแสดงความนับถือ

ศ.นพ.ประกิต  วาทีสาธกกิจ

ผู้ทรงคุณวุฒิคณะกรรมการควบคุมการบริโภคยาสูบแห่งชาติ

13  มีนาคม 2556