ทำไมวัดต้องเป็นเขตปลอดบุหรี่?

ร่วมรณรงค์ในพื้นที่ต่างๆ 5 มี.ค. 57 | เข้าชม: 11,315

วัดเป็นสถานที่ทางศาสนา ซึ่งเป็นสถาบันที่สำคัญยิ่งของสังคมไทย ดังนั้นวัดและพระสงฆ์จึงควรเป็นผู้นำของสังคม ในการปลอดจากการเสพติดบุหรี่ ซึ่งเป็นสิ่งที่เป็นพิษภัยทั้งต่อตนเองและต่อผู้อื่น

5 ขั้นตอนสำคัญในการจัดให้วัดปลอดบุหรี่
การรณรงค์ให้วัดเป็นเขตปลอดบุหรี่จะมุ่งเน้นในการผลักดันให้วัดดำเนินการจัดเขตปลอดบุหรี่ในวัดอย่างจริงจัง โดยเฉพาะในบริเวณหรือสถานที่ที่มีการใช้ร่วมกัน เช่น ศาลาสวดอภิธรรม ศาลาการเปรียญ ลานวัด และบริเวณที่ใช้สำหรับประกอบพิธีกรรมทางศาสนา เป็นต้น เพราะกุญแจสำคัญที่จะช่วยให้โครงการบรรลุตามวัตถุประสงค์ คือ การมีนโยบายเขตปลอดบุหรี่ที่เข้มแข็ง และกิจกรรมที่ต่อเนื่องในการรณรงค์

  1. ตั้งบุคคลผู้รับผิดชอบ 
    เจ้าอาวาสจัดประชุมเพื่อปรึกษาหารือผู้รับผิดชอบโครงการ ทั้งตัวแทนฝ่ายพระสงฆ์ และฆราวาส คณะกรรมการวัด ให้เป็นผู้ดำเนินโครงการอย่างจริงจัง และต่อเนื่อง
  2. ประชาสัมพันธ์
    2.1 ออกหนังสือเป็นลายลักษณ์อักษร ลงนามโดยเจ้าอาวาสวัดประกาศประชาสัมพันธ์ตามจุดต่างๆ ทั่วบริเวณวัด เพื่อให้รับทราบโดยทั่วหน้ากัน ทั้งนี้ตามประกาศแจ้งให้ทราบนั้น ต้องระบุชัดเจนเกี่ยวกับกำหนดการในการดำเนินการอย่างจริงจัง และวันเริ่มต้น วัดปลอดบุหรี่ ซึ่งต้องใช้เวลาอย่างน้อย 1-2 เดือน
    2.2 ติดสติกเกอร์ห้ามสูบบุหรี่ตามสถานที่ต่าง ๆ เช่น ศาลาสวดอภิธรรม ศาลาการเปรียญ หน้าห้องสมุด หน้าห้องน้ำ เป็นต้น
    2.3 ติดป้าย ?วัดเป็นเขตปลอดบุหรี่? ขนาดใหญ่ไว้ตามจุดต่าง ๆ ที่สำคัญ เช่น บริเวณหน้าวัด ประตูทางเข้าวัดทุกด้าน เป็นต้น
    2.4 ประกาศประชาสัมพันธ์เสียงตามสาย ขอความร่วมมือไม่สูบบุหรี่ในวัด ให้ญาติโยมทราบนโยบายของวัด เนื่องในโอกาสวันสำคัญทางศาสนา
  3. การให้ความรู้เรื่องพิษภัยของบุหรี่
    3.1 เทศนาสอดแทรกเรื่องพิษภัยของบุหรี่เป็นธรรมทานอยู่เนืองๆ ให้ญาติโยม ลด ละ เลิก บุหรี่ เพื่อไม่ให้ตั้งอยู่ในความประมาท เพราะถือว่าบุหรี่เป็นสิ่งเสพติดที่นำไปสู่สิ่งเสพติดชนิดอื่น และบั่นทอนสุขภาพ ถือเป็นการเบียดเบียนตนเองและผู้อื่น
    3.2 ให้ความรู้แก่ญาติโยมในการไม่ถวายบุหรี่แก่พระสงฆ์
    3.3 จัดบอร์ดให้ความรู้เรื่องพิษภัยอันตรายของบุหรี่ในโอกาสสำคัญ เช่น วันงดสูบบุหรี่โลก
  4. พระสงฆ์ไม่สูบบุหรี่
    เพื่อเป็นแบบอย่างที่ดีในการตั้งอยู่บนความไม่ประมาทแก่ญาติโยม กล่าวคือ ลด ละ เลิก บุหรี่เป็นแบบอย่าง
  5. เจ้าอาวาสจริงจัง
    เจ้าอาวาสคือกุญแจแห่งความสำเร็จในการไม่สูบบุหรี่ เป็นแบบอย่าง ตลอดจนสนับสนุนการรณรงค์อย่างเข้มแข็ง จริงจัง และต่อเนื่อง
    5.1 มีกฎระเบียบถือปฏิบัติอย่างเคร่งครัด
    5.2 ปฏิบัติตามหลักพระพุทธศาสนาอย่างเคร่งครัด