รอมฎอน...ตั้งมั่นเลิกบุหรี่ผู้นำศาสนาร่วมใจรณรงค์

ข่าว/กิจกรรม 24 ก.ค. 57 | เข้าชม: 2,097

จากสถิติพบว่า ชายในสังคมมุสลิมมีอัตราการสูบบุหรี่มากกว่าชาวไทยพุทธประมาณ 2 เท่า ส่วนผู้นำศาสนาประมาณครึ่งหนึ่งยังสูบบุหรี่อยู่ ถือว่าน่าเป็นห่วง

แม้ท่านจุฬาราชมนตรีได้วินิจฉัยไว้แล้วว่า บุหรี่เป็นสิ่งต้องห้ามหรือฮะรอม ในช่วงเดือนรอมฎอนปีนี้ ผู้นำศาสนา 39 จังหวัดทั่วประเทศจึงได้รวมใจรณรงค์เลิกบุหรี่ เพื่อเป็นแบบอย่างและจุดเริ่มต้นการลด ละ เลิกการสูบบุหรี่ ซึ่งก่อนหน้านี้มีการดำเนินการรณรงค์เรื่องนี้ในมัสยิดต่างๆ

"เดือนรอมฎอนถือเป็นโอกาสที่ดีในการเริ่มต้นลด ละ เลิกการสูบบุหรี่สำหรับคนที่สูบ เพราะช่วงเดือนนี้จะมีการอดอาหารกลางวันเป็นเวลา 13 ชั่วโมงอยู่แล้ว เมื่ออดไม่สูบบุหรี่ได้ถึง 13 ชั่วโมงช่วงกลางวันแล้วจะมาสูบในช่วงกลางคืนก็คงไม่ดี ดังนั้น ถ้าใจอยากเลิกสูบบุหรี่เลยก็จะเลิกได้ แต่ปัญหาคือใจของคนสูบ ว่าอยากจะเลิกสูบบุหรี่หรือไม่ เพราะฉะนั้นต้องเน้นเรื่องใจของคนสูบให้มีสำนึกในการเลิกสูบให้ได้" นายประดิษฐ์ รัตนโกมล ผู้นำศาสนา จ.พระนครศรีอยุธยา เชื่อมั่น

นายประดิษฐ์บอกว่า ในพื้นที่ จ.พระนคร ศรีอยุธยามีความเข้มข้นในการรณรงค์เรื่องการเลิกสูบบุหรี่อย่างมาก โดยประกาศให้มัสยิดทุกแห่งในจังหวัดเป็นมัสยิดปลอดบุหรี่ 100% หากเป็นผู้นำศาสนาที่สูบบุหรี่จะต้องระวังการสูบ ต้องคำนึงถึงภาพลักษณ์ที่จะสะท้อนถึงการแพ้อารมณ์ตนเอง ทำให้ขาดความเชื่อมั่น นอกจากนี้ยังเน้นการให้ข้อมูลเกี่ยวกับพิษภัยของบุหรี่ด้วย โดยชี้ให้เห็นว่าไม่มีใครบอกว่าดูดบุหรี่แล้วมีประโยชน์ มีแต่เกิดโทษ และสร้างกระแสให้เข้าใจว่าบุหรี่เป็นสิ่งต้องห้ามสำหรับคนมุสลิม เพราะฉะนั้นหากทำความดีแต่ยังสูบบุหรี่จึงไม่ใช่ความดีที่บริสุทธิ์ใจ นอกจากนี้ มัสยิด 6 แห่งยังมีการให้คำปรึกษาสำหรับคนที่อยากเลิกบุหรี่ด้วย
"หลังจากดำเนินการมาได้ประมาณ 2-3 เดือน ด้วยการชี้ผิดชี้ถูกเพื่อประกอบการตัดสินใจ ปรากฏว่าสามารถป้องกันการสูบบุหรี่ในกลุ่มนักสูบหน้าใหม่ได้ถึง 90% ขณะที่คนที่ตั้งใจลด ละ เลิกมีราว 20% จากนี้จะรณรงค์ต่อไปเรื่อยๆ เพื่อให้เห็นว่าการสูบบุหรี่เป็นการทวนกระแสสังคมโลก" นายประดิษฐ์กล่าว

เช่นเดียวกับพื้นที่ภาคใต้ตอนล่าง นายสุรินทร์ เหมนุกูล กรรมการอิสลามประจำ จ.สงขลา และผู้อำนวยการศูนย์กิจกรรมภาคใต้ตอนกลาง 8 จังหวัด เล่าว่า มัสยิดปลอดบุหรี่เป็นหนึ่งในหลักเกณฑ์ของโครงการมัสยิดครบวงจร ที่ผ่านมาได้มีการณรงค์เรื่องการลด ละ เลิกบุหรี่ของมุสลิมในพื้นที่ผ่านวิธีการต่างๆ อาทิ นำคำวินิจฉัยที่ว่าบุหรี่เป็นฮะรอมติดไว้ตามมัสยิด แสดงให้เห็นว่าหากนำเงินที่ใช้ไปในการซื้อบุหรี่มาเก็บออม ภายใน 7 ปีสามารถนำเงินดังกล่าวไปทำฮัจญ์ได้ รวมถึงให้ข้อมูลโรคที่เกิดจากการสูบบุหรี่พร้อมภาพประกอบ เพื่อให้เห็นถึงพิษภัยที่จะเกิดขึ้น

ผลของการรณรงค์ถือว่าน่าพอใจ นายสุรินทร์บอกว่า อย่างน้อยน่าจะช่วยกระตุ้นในการอยากเลิกบุหรี่ให้เกิดขึ้นภายในจิตใจได้บ้าง เนื่องจากต้องยอมรับว่าการสูบบุหรี่เป็นสิ่งที่ปฏิบัติมานาน แต่ถ้าสร้างจิตสำนึกให้เขารู้ว่าบุหรี่เป็นสิ่งต้องห้าม เพราะเป็นพิษร้ายแรงต่อตนเองและคนอื่นในชุมชน ก็น่าจะทำให้จำนวนผู้ที่สูบบุหรี่ลดลงได้

บริเวณมัสยิดบ้านอู่ เขตบางรัก เป็นอีกพื้นที่ที่มีการดำเนินโครงการรณรงค์เรื่องนี้เช่นกัน โดย นายชัช หะซาเล็ม ผู้นำศาสนากรุงเทพฯ และครูประจำอิสลามวิทยาลัยแห่งประเทศไทย กล่าวว่า มัสยิดบ้านอู่จะเน้นให้ยุวชนเป็นแกนนำในการดำเนินการรณรงค์เรื่องการลด ละ เลิกบุหรี่ เพราะหากให้ผู้ใหญ่บอกผู้ใหญ่จะไม่ค่อยฟัง แต่หากให้กลุ่มยุวชนเตือนจะทำให้ผู้ใหญ่เกิดความละอาย จากการที่แม้แต่เด็กยังเห็นถึงพิษภัยของบุหรี่ แล้วทำไมผู้ใหญ่ไม่สำนึกในเรื่องนี้ ก็น่าจะช่วยให้เกิดความต้องการเลิกบุหรี่ได้ ในทางกลับกันยังเป็นการสอนให้ยุวชนซึมซับอันตรายในเรื่องนี้ ป้องกันไม่ให้เกิดนักสูบหน้าใหม่ขึ้นด้วย โดยที่ผ่านมายุวชนได้ใช้วิธีการเขียนคำสอนในอัลกุรอานติดตามเสาไฟ เพื่อให้คนในชุมชนอ่านแล้วกระตุ้นความรู้สึกนึกคิด

รอมฎอนเป็นเดือนอันประเสริฐ เป็นโอกาสดีที่จะตั้งใจมั่นและเริ่มต้นการลด ละ เลิกบุหรี่ ที่ถือเป็นสิ่งที่เป็นอันตรายต่อตนเองและผู้อื่น.
"ช่วงเดือนรอมฎอน นี้จะมีการอดอาหารกลางวันเป็นเวลา 13 ชั่วโมงอยู่แล้ว เมื่ออดไม่สูบบุหรี่ได้ถึง 13 ชั่วโมงช่วงกลางวัน แล้วจะมาสูบในช่วงกลางคืนก็คงไม่ดี ดังนั้น ถ้าใจอยากเลิกสูบบุหรี่เลยก็จะเลิกได้..."

 บรรยายใต้ภาพ 
          บุหรี่เป็นสิ่งต้องห้ามหรือฮะรอม
          ผู้นำศาสนา 39 จังหวัด รวมใจรณรงค์เลิกบุหรี่ในเดือนรอมฎอน
          ชัช หะซาเล็ม ผู้นำศาสนากรุงเทพฯ
          สติกเกอร์รณรงค์รอมฎอนนี้ไม่มีบุหรี่