สื่อสร้างภูมิคุ้มกันเด็กไทย ห่างไกลปัจจัยเสี่ยง

ข่าว/กิจกรรม 6 มี.ค. 65 | เข้าชม: 1,366

เหล้า บุหรี่ และการพนัน เป็นเรื่องไกลตัวเด็ก ยังไม่ต้องสอนจริงหรือไม่ หรือการที่คิดว่าระยะทางใกล้ ๆ ไม่ได้ขับขี่ออกถนนใหญ่ คงไม่เกิดอุบัติเหตุ ความเข้าใจที่ไม่ถูกต้องเหล่านี้ ก่อให้เกิดความประมาทในการดำเนินชีวิต ซึ่งควรได้รับการแก้ไขตั้งแต่ยังเป็นเด็กเล็ก

ดังนั้น เพื่อเป็นการปลูกจิตสำนึกสร้างภูมิคุ้มกันให้กับเด็กตั้งแต่ช่วงวัยเริ่มต้น ทาง สสส. จึงได้ร่วมกับโครงการอารักข์ และโครงการอาสา จัดสัมมนาบทสรุปการสร้างภูมิคุ้มกันจากปัจจัยเสี่ยง เหล้า บุหรี่ การพนันและอุบัติเหตุสำหรับเด็กวัยอนุบาลและนักเรียนระดับชั้นประถมศึกษาตอนต้น ผ่านชุดสื่อกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อส่งเสริมให้เด็กและเยาวชนได้เติบโตไปพร้อมกับความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง

จริง ๆ แล้วปัจจัยเสี่ยงเรื่องเหล้า บุหรี่ รวมไปถึงการพนัน และอุบัติเหตุทางถนน ล้วนเป็นปัจจัยเสี่ยงที่อยู่ใกล้และแวดล้อมตัวเด็กและเยาวชนมาก ทำให้เด็ก ๆ อาจเข้าไปเกี่ยวข้องกับสิ่งเหล่านี้ โดยไม่รู้ตัว” เป็นความเห็นของนางสาวรุ่งอรุณ ลิ้มฬหะภัณ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงหลัก สสส.

นางสาวรุ่งอรุณ เล่าว่า เด็กและเยาวชนมีพฤติกรรมสูบบุหรี่และดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ถึงกว่า 1 ล้าน 9 แสนคน ขณะที่ตัวเลขของผู้เสียชีวิตจากควันบุหรี่มือสองในแต่ละปีมีถึง 9,400 กว่าราย นอกจากนี้ ยังมีงานวิจัยที่ระบุถึงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เป็นสาเหตุหลักของการกระทำความผิดของกลุ่มเยาวชน จนต้องเข้าไปอยู่ในสถานพินิจฯ เช่นเดียวกับการเกิดอุบัติเหตุทางถนน เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ก็เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดการเสียชีวิตก่อนวัยอันควร ขณะที่ปัญหาการพนันพบว่าผู้ที่เล่นพนันมักเป็นคนใกล้ชิดเด็กถึงร้อยละ 98.9

“ความร่วมมือจากโรงเรียน ครู อาจารย์ พ่อแม่ผู้ปกครอง และหน่วยงานต่าง ๆ สามารถช่วยปกป้องเด็กและเยาวชนได้ โครงการอารักข์และโครงการอาสาที่ สสส.ให้การสนับสนุน ได้ช่วยให้เด็ก ๆ ให้ไม่ตกเป็นเหยื่อปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ ที่เข้ามา โดยได้มีการนำสื่อชุดนี้ไปใช้ในโรงเรียนแล้วกว่า 138 แห่งทั่วประเทศ” ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงหลัก สสส. กล่าว

ด้าน ดร.อัญญมณี บุญซื่อ หัวหน้าโครงการอารักข์ และโครงการอาสา เล่าว่า การเสริมสร้างภูมิคุ้มกันจากปัจจัยเสี่ยงทางถนนและการพนันของโครงการอารักข์ ใช้วิธีจัดประสบการณ์การเรียนรู้ผ่านกิจกรรม ตามลำดับการพัฒนาจิตสำนึก 4 ระดับ ตั้งแต่ระดับพื้นฐานไปสู่ระดับที่ซับซ้อน เริ่มที่

  1. กิจกรรมกลุ่มสัมผัส เป็นกิจกรรมการรับรู้ผ่านประสาทสัมผัสทั้ง 5 ในการใช้และกำกับร่างกายตนเอง ด้วยกิจกรรมแบบรูปธรรมไปสู่การกำกับใจแบบนามธรรรม เช่น การรู้จักพอ เพื่อแก้ปัญหาการพนัน การควบควมคุมและระมัดระวังตนเอง เพื่อป้องกันปัญหาเรื่องอุบัติเหตุทางถนน
  2. กิจกรรมกลุ่มสัมพันธ์ กิจกรรมฝึกการรู้สึกว่าตนเองเป็นส่วนหนึ่งของสังคม ด้วยการเป็นผู้ให้มากกว่าการเป็นผู้อยากได้ หล่อหลอมจิตใจ พัฒนาการคิดเพื่อส่วนรวมแบบยืดหยุ่น เปิดรับมุมมองใหม่ ๆ เห็นอกเห็นใจผู้อื่น ผ่านการสร้างปฏิสัมพันธ์เชิงบวกร่วมกัน
  3. กิจกรรมกลุ่มสัมปชัญญะ ฝึกให้เด็กรู้เหตุและผลประกอบการคิด ตัดสินใจแก้ปัญหาตามความเป็นจริง โดยไม่ใช้ความรู้สึก เพื่อคิดถึงความสำคัญของการใช้อุปกรณ์ปลอดภัยแบบต่าง ๆ และผลที่จะตามมาจากความประมาทด้วยการทดลองเชิงประจักษ์
  4. กิจกรรมกลุ่มสำรวจ เป็นกิจกรรมฝึกการสังเกตสัญลักษณ์และวัฒนธรรมในชุมชน เพื่อให้เกิดความเข้าใจในความหมายของคำว่าอันตรายหรือปลอดภัย จากเหตุการณ์ในชีวิตจริง

ดร.อัญญมณี บอกว่า ในส่วนของโครงการอาสา สำหรับปัจจัยเสี่ยงจากเหล้าและบุหรี่ ปัญหาใหญ่คือเรื่องของทัศนคติ จึงออกแบบการรับมือด้วย 5 ยุทธศาสตร์ ซึ่งเป็นการเปลี่ยนกรอบความคิดหรือ Mindset เพื่อสร้างพลังในตนเอง

   กิจกรรมที่ 1 จุดประกายด้วยละครเพลง ใช้ละครเพลงและการเล่นบทบาทสมมุติ เพื่อจุดประกายความเข้าใจให้เด็ก ๆ เห็นถึงผลกระทบและความเสี่ยงที่เกิดจากเหล้าและบุหรี่ รวมถึงชวนให้เด็ก ๆ เข้าร่วมเป็นผู้พิทักษ์ด้วย

    กิจกรรมที่ 2 การวินิจฉัยเด็กที่อาจเป็นกลุ่มเสี่ยงจากเหล้าและบุหรี่ ใช้กิจกรรมบทบาทสมมุติร้านค้า เพื่อสังเกตว่าเด็กคนไหนมีแนวโน้มที่จะเป็นกลุ่มเสี่ยง เพื่อการเฝ้าระวัง และการช่วยสอนอย่างใกล้ชิด

    กิจกรรมที่ 3  การจัดการความเครียด ฝึกให้เด็กจัดการกับความคิดและอารมณ์ทางลบของตนเอง เมื่อเผชิญกับความเครียดในรูปแบบต่าง ๆ เช่น ความมืด การจินตนาการไปเองของเด็ก ๆ รวมถึงการต้องแข่งกับเวลา โดยฝึกการเผชิญกับความกลัว

    กิจกรรมที่ 4  การดูแลตนเองอย่างสร้างสรรค์ การคำนึงถึงการดูแลสุขภาพและสุขภาวะ เช่น การสร้างสรรค์เมนูอาหารสุขภาพ และการล้างมืออย่างถูกวิธี เพื่อป้องกันภัยจากบุหรี่มือสาม

    กิจกรรมที่ 5 ไอดอลเด็ก ผู้บริโภคเหล้าและบุหรี่หลายคน อาจไม่ได้คำนึงถึงโทษและผลกระทบที่จะตามมา หรือยังไม่เชื่อในคำตักเตือนของคนรอบข้าง แต่ถ้าเป็นคำขอจากลูกหลานของตนเอง ก็อาจจะโน้มน้าวให้เกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมได้

ขณะที่ คุณโทโมอะกิ โกโตะ ประธานบริษัท เอ็กเซดี้ เอ็นจิเนียริ่ง เอเชีย จำกัด ที่ปรึกษาโครงการฯ เล่าให้ฟังว่า ชุดสื่อกิจกรรมต่าง ๆ ที่ทางโครงการจัดทำขึ้น เป็นการประยุกต์มาจากหลักสูตรด้านความปลอดภัย ที่มีบรรจุอยู่ในแผนการเรียนการสอนของโรงเรียนประเทศญี่ปุ่น โดยได้สรุปข้อดีต่าง ๆ แล้วนำมาปรับใช้ให้เหมาะสมกับสถานการณ์ในประเทศไทย

“แต่ก่อนสถิติอุบัติเหตุในประเทศญี่ปุ่นค่อนข้างสูง ดังนั้น จึงมีการสอนให้กับเด็ก ๆ ตั้งแต่วันแรกที่เข้าโรงเรียน เพื่อสร้างจิตสำนึกด้านความปลอดภัยตั้งแต่แรกเริ่ม และเมื่อเขาเติบโตขึ้นก็จะมีจิตสำนึกในเรื่องเหล่านี้ ซึ่งหลังจากที่ให้เด็ก ๆ ได้มาเรียนรู้ ตัวเลขการเกิดอุบัติเหตุในแต่ละปีก็ลดลงอย่างชัดเจน” คุณโทโมอะกิ กล่าว

การป้องกันอาจง่ายกว่าการแก้ไข เราจึงควรเริ่มปลูกสร้างจิตสำนึกตั้งแต่ยังเด็ก เชื่อว่าโครงการอารักข์ และโครงการอาสา ที่ สสส.ให้การสนับสนุนจะช่วยเสริมสร้างทัศนคติความปลอดภัย จากปัจจัยเสี่ยงเหล้าบุหรี่ การพนันและอุบัติเหตุ ให้กับสังคมไทยได้อย่างยั่งยืน

ทั้งนี้ ผู้สนใจสามารถติดตามรายละเอียดโครงการ หรือดาวน์โหลดชุดสื่อการเรียนรู้ผ่านเว็บไซต์ www.arrag-arsa.com และเฟซบุ๊ก แฟนเพจ โครงการ อาสา ARSA Project/โครงการ อารักข์ ARRAG Project

 

เรื่องโดย ฉัตร์ชัย นกดี Team Content www.thaihealth.or.th