คนไทยเกือบ 7,000 ชีวิตต้องสังเวยให้ควันบุหรี่มือสอง ทั้งที่รังเกียจและไม่เสพบุหรี่

ข่าว/กิจกรรม 13 ธ.ค. 60 | เข้าชม: 1,776

กรุงเทพมหานคร วันที่ 13 ธันวาคม 2560 – พิษภัยจากควันบุหรี่มือสองคร่าชีวิตคนไทยถึง 6,500 คนต่อปี ด้วยโรคมะเร็ง หัวใจล้มเหลว และโรคทางเดินหายใจเรื้อรัง ในสถานที่ทุกแห่งที่มีควันบุหรี่มือสอง แม้ลอยอวลเพียงเล็กน้อยก็มีอันตรายต่อสุขภาพ ทางเดียวที่จะปกป้องผู้ไม่สูบบุหรี่ได้ดีที่สุดคือ กำจัดการสูบบุหรี่ในทุกสถานที่ โดยเฉพาะที่บ้าน สถานที่ทำงาน  และสถานที่สาธารณะ

นายแพทย์แดเนียล เคอร์เทซ ผู้แทนองค์การอนามัยโลก ประจำประเทศไทยกล่าวว่า การตายจากสาเหตุได้รับควันบุหรี่มือสองนั้นสามารถหลีกเลี่ยงได้  โดยทำให้ “บ้านและสถานที่ทำงานปลอดบุหรี่” อย่างเด็ดขาด จะช่วยลดพิษภัยจากควันบุหรี่มือสองในผู้ที่ไม่สูบบุหรี่ และไม่เป็นแบบอย่างการ สูบให้กลุ่มเยาวชน ทั้งลดทอนค่านิยมการสูบบุหรี่ในสังคมลงได้ด้วย

การบังคับใช้กฎหมายควบคุมยาสูบอย่างเข้มแข็งของรัฐบาล ทำให้ควันบุหรี่ในพื้นที่สาธารณะและพื้นที่ปิด ลดลงอย่างชัดเจน หากร่วมกันทำให้บ้านและที่ทำงานปลอดควันบุหรี่มือสอง จะยิ่งทำให้เด็ก เยาวชน รวมถึงกลุ่มผู้หญิง คนไม่สูบบุหรี่อยู่ในสภาพแวดล้อมปลอดภัย  แต่กระนั้น อันตรายของควันบุหรี่มือสองก็ยังเป็นภัยต่อเยาวชนไทย เพราะการสำรวจขององค์การอนามัยโลก ร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข ในปี 2558 พบว่า เด็กนักเรียนไทย 1 ใน 3 ได้รับควันบุหรี่มือสองจากที่บ้าน

และยังมีการสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ในปี 2557 มีคนไทยประมาณ 15.2 ล้านคน ต้องรับควันบุหรี่มือสองในบ้านของตนเอง ส่วนสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี ร่วมกับ สสส. และมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่และเครือข่าย จับมือกันทำโครงการ “บ้านปลอดบุหรี่” (Smoke Free Home) เพื่อรณรงค์เชิงรุกให้ประชาชนตระหนักถึงพิษภัยของควันบุหรี่มือสอง

ทางด้าน ศ.นพ.ประกิต  วาทีสาธกกิจ  เลขาธิการมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่  กล่าวว่า ในปีนี้ ประเทศไทยบังคับใช้ พระราชบัญญัติควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ. 2560 ซึ่งสอดคล้องกับกรอบอนุสัญญาว่าด้วยการควบคุมยาสูบขององค์การอนามัยโลก (WHO FCTC) กำหนดมาตรการลดการใช้ยาสูบและสูดดมควันบุหรี่มือสอง ให้คนไทยทุกคนต้องรับผิดชอบปกป้องสุขภาพของตนเองและครอบครัวจากบุหรี่มือสอง โดยทำให้บ้าน และยานพาหนะเป็นที่ที่ปลอดบุหรี่ สอนให้เด็กอยู่ให้พ้นจากควันบุหรี่มือสอง และต้องเป็นตัวอย่างที่ดีในการไม่สูบบุหรี่ หรือใช้ผลิตภัณฑ์ยาสูบทุกประเภท

เป็นที่แน่ชัดว่า การใช้ยาสูบเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญของการตาย ทั้งที่ป้องกันได้ การเสียชีวิตมากกว่า 51,000 คนต่อปี เป็นความสูญเสียทางเศรษฐกิจจากโรคที่บุหรี่เป็นต้นเหตุสูงถึง 7.5 หมื่นล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 0.8 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในแต่ละปี สำหรับทั่วโลก ประชากรราว 7 ล้านคนต่อปีเสียชีวิตจากการใช้ยาสูบ และอีกกว่า 890,000 คนต้องสิ้นลมด้วยควันบุหรี่มือสอง

 

 

สำหรับข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ

องค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทย

นางสาวกรรภิรมย์ วิบูลย์พานิช

โทร 02 547 0121 อีเมล์: kanpirom@who.int