“สภาพแวดล้อมที่เป็นมิตรต่อครอบครัว : สร้างสุข ทุกพื้นที่ปลอดภัย”

น่าเอาอย่าง 19 ต.ค. 65 | เข้าชม: 1,605

ครอบครัว” คือรากฐานสำคัญที่จะหล่อหลอมให้เด็กเติบโตไปอย่างมีคุณภาพ ที่ผ่านมาครอบครัวไทยเผชิญกับความท้าทายในหลาย ๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็นความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ สังคม และการพัฒนาอย่างรวดเร็วของเทคโนโลยีและนวัตกรรม รวมถึงวิถีชีวิตที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้ ผู้คนต่างคนต่างอยู่มากขึ้น สังคม ชุมชน ขาดการทำกิจกรรมร่วมกันน้อยลงไปเรื่อย ๆ

อีกปัจจัยหนึ่งคือ ปัญหาการหย่าร้างพบมากขึ้นทุกปี เด็กที่ครอบครัวหย่าร้างจัดเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงต่อการเกิดปัญหาทางสังคม การหย่าร้างของผู้ใหญ่อาจเป็นแค่เรื่องเล็กน้อย แต่สำหรับเด็กอาจต้องแยกกันอยู่ระหว่างพ่อ หรือแม่ ซึ่งในความเป็นจริง การหย่าร้างในบางครอบครัวอาจทำให้เกิดผลกระทบกับเด็ก เนื่องจากเด็กทั่วไปมองการหย่าร้างไปในเชิงลบ บางเหตุการณ์กระทบจิตใจ ทำให้เด็กเก็บกดและแสดงออกมาในลักษณะก้าวร้าว เรียกร้องความสนใจ และสร้างปัญหาต่าง ๆ ที่อาจรุนแรงมากขึ้น

นางสาวณัฐยา บุญภักดี ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัว สสส. ให้ข้อมูลว่า สถาบันครอบครัวต้องเข้มแข็ง เราสามารถตีความหมายถึงความแข็งแกร่งของสถาบันครอบครัวไปต่าง ๆ นานา แต่รู้หรือไม่ ว่าครอบครัวไม่ได้ลอยอยู่ในสูญญกาศเสมอไป ครอบครัวเปรียบเสมือนดาวที่ล้อมไปด้วยสิ่งต่าง ๆ มากมาย ทั้งหมดนี้คือระบบนิเวศน์ที่มีผลต่อความเป็นอยู่ที่ดี ความมีสุขภาวะของครอบครัว เราจะให้ครอบครัวเข้มแข็งได้อย่างไร เมื่อทุกครอบครัวต้องไปทำงานไกลบ้าน เด็กหลายคนต้องเรียนไกลบ้าน และต้องทิ้งคนแก่ไว้ดูแลบ้านและเด็ก ซึ่งปัญหาเหล่านี้มีมายาวนาน ในชนบท บางหมู่บ้านแทบจะไม่มีคนวัยแรงงานอยู่เลย เพราะวัยนี้ต้องออกไปต่อสู้ดิ้นรนอยู่ในเมืองใหญ่ ๆ จึงทำให้ชุมชนนั้น ๆ มีแต่เด็กและผู้สูงอายุ ซึ่งไม่แปลกถ้าหากเราจะเห็นเด็กเหล่านี้เกาะกลุ่มมั่วสุ่มกัน เนื่องจากขาดการใส่ใจ Ecosystem ของครอบครัว

นางสาวณัฐยา กล่าวต่อไปว่า ตอนนี้เรามาถูกทางแล้ว ที่จะสร้างสภาพแวดล้อมที่เป็นมิตรให้กับครอบครัว มีการวางแผนปฏิบัติกันอย่างดีมาก และดีใจมากเพราะเป็นสิ่งที่อยากเห็นมานาน ขอให้การสร้างพื้นที่สำหรับครอบครัวมั่นคง และเราจะต้องช่วยกันผลักดันเรื่องนี้

“สสส. มีความพร้อมที่จะเป็นกองหนุน 20 ปี ของ สสส. เราสะสม Solution มากมาย อีกทั้งภาคีเครือข่ายนั้น มีความเก่งและเชี่ยวชาญสามารถพัฒนาจนเกิดเป็นพื้นที่ต้นแบบ เกิดศูนย์เรียนรู้ต่าง ๆ มีทีมที่เก่งมากแทบจะทุกเรื่องที่เป็น  Well being ของมนุษย์ ทุกเพศ ทุกวัย เพื่อทำให้คนไทยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ไม่ว่าจะอยู่ในครอบครัวแบบไหนก็ตาม และเราพร้อมจะหนุนหลังฝ่ายนโยบายในทุกระดับ สามารถพูดคุยกันได้ว่าจะร่วมมือกันในรูปแบบไหน อย่างไร อีก 10 ปีข้างหน้า สสส. พร้อมแล้วที่จะเดินไปพร้อมกับทุกคนเพื่อสร้างพื้นที่ปลอดภัย และสร้างสุขให้กับสังคม” นางสาวณัฐยา กล่าวเพิ่มเติม

ปัญหาของครอบครัวมีผลกระทบต่อคุณภาพชีวิต ดังนี้

1. พ่อ แม่ ลูก ไม่ได้ทำบทบาทหน้าที่อย่างเต็มที่

2. พ่อแม่ต้องออกจากบ้าน หรือย้ายถิ่นทำงานเพื่อหารายได้ให้ครอบครัว

3. สถานที่ทำงานไม่เอื้อต่อการดูแลสมาชิกในครอบครัว หรือไม่สามารถสร้างสมดุลระหว่างชีวิตและงานได้

4. สมาชิกขาดการใช้เวลาร่วมกันในครอบครัว ส่งผลต่อสัมพันธภาพที่เปราะบาง สามารถก่อให้เกิดความรุนแรงในครอบครัวได้มากขึ้น

แพทย์หญิงจิราภรณ์ อรุณากูร กุมารแพทย์เวชศาสตร์วัยรุ่น โรงพยาบาลรามาธิบดี (เจ้าของเพจเลี้ยงลูกนอกบ้าน) ให้ข้อมูลว่า ยุคนี้จริง ๆ คือยุคของเดอะแบก ยุคหนึ่ง เพราะว่าต้องแบกทุกอย่าง พ่อแม่ในปัจจุบันนั้น ต้องแบกรับเรื่องการดูแลลูก ต้องแบกรับค่าเรียนที่สูง พ่อแม่หลาย ๆ คนอยากให้ลูกมีคุณภาพชีวิตที่ดี แต่ก็แลกมากับค่าเทอมซึ่งแพงมหาศาลด้วยเช่นกัน ทั้งหมดนี้ จึงเป็นปัจจัยที่ทำให้พ่อแม่ต้องแบกรับหลายอย่าง ไหนจะต้องดูแลพ่อแม่ตัวเอง ซึ่งประเทศเราก็ยังไม่มีสวัสดิการตรงนี้ หากคนในครอบครัวป่วยจะกระทบไปทั้งหมด บางคนต้องออกจากบ้านมาดูแล พอไม่มีรายได้ผลกระทบจึงเกิดกับเด็ก เพราะต้องถูกออกจากการศึกษาเพื่อมาเป็นแรงงาน

แพทย์หญิงจิราภรณ์ กล่าวต่อไปว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นเมื่อคนในบ้านสะดุดไปหนึ่งคน จะทำให้ทั้งครอบครัวสะดุดไปด้วย จริง ๆ คนในครอบครัวเองก็เปราะบางและมีความเครียดที่ค่อนข้างสูง หลาย ๆ คนอาจจะคิดว่าหากมีลูกช่วงนี้ต้องสู้กับทุกอย่าง สู้กับเศรษฐกิจ และสังคม ทำให้คนยุคใหม่เลี่ยงที่จะไม่อยากมีลูก เพราะปัจจัยเสี่ยงเหล่านี้ หากได้รับการแก้ไขร่วมกันจะเป็นสิ่งที่ดีมาก ๆ สำหรับการเปลี่ยนแปลงไปสู่สังคม ชุมชน ให้มีศักยภาพที่ดี

สร้างพื้นที่ปลอดภัยในบ้านด้วยหลัก 5 L

1. Love ความรัก สอนให้รู้จักความรัก ไม่ว่าจะรักคนในครอบครัว รักครู หรือรักเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน

2. Learning การเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ เด็กสามารถทำกิจกรรมที่หลากหลายและเรียนรู้ด้วยตัวเอง รู้จักแก้ปัญหาด้วยตัวเอง

3. Limit ควบคุมตัวเองได้ ว่าสิ่งไหนควรทำ สิ่งไหนไม่ควรทำ เด็กจะสามารถควบคุมตัวเองได้ดี

4. Let them go เติบโตเป็นตัวของตัวเอง ทำในสิ่งที่อยากทำอย่างสร้างสรรค์

5. Let it be การปล่อยวาง ไม่ครอบงำ กำกับความอิสระของเด็ก เพื่อให้เด็กเติบโตไปแบบที่ต้องการ

บ้านและครอบครัวจะมีความสุข ต้องเริ่มจากสภาพแวดล้อมเป็นปัจจัยแรก ร่วมกันปลูกฝังเด็กและคนในครอบครัวให้รู้จักเอื้อเฟื้อต่อเพื่อนมนุษย์ ให้อภัยกัน เพียงเท่านี้ เด็กจะเติบโตไปอย่างมีคุณภาพที่ดีแน่นอนและจะทำให้สังคมน่าอยู่มากขึ้นอีกด้วย

สสส. และภาคีเครือข่าย ร่วมสร้างสภาพแวดล้อมที่เป็นมิตรต่อครอบครัว เสริมศักยภาพของสถาบันครอบครัวให้มีประสิทธิภาพอย่างดีที่สุด เพื่อให้ครอบครัวไทยก้าวหน้า เป็นพลังที่ยิ่งใหญ่ เพื่อสร้างรากฐานครอบครัวให้เข้มแข็ง และพาประเทศก้าวสู่ความแข็งแรงที่ยั่งยืน

 

เรื่องโดย จุติพร วรรณศิริ Team Content www.thaihealth.or.th

ข้อมูลจาก การประชุมสมัชชาครอบครัวระดับชาติ ประจำปี 2565 และปาฐกถาพิเศษ ในหัวข้อ “สภาพแวดล้อมที่เป็นมิตรต่อครอบครัว : สร้างสุข ทุกพื้นที่ปลอดภัย”