7 เทคนิค หัวเราะบำบัดกายเสริมใจ

น่าเอาอย่าง 11 ส.ค. 58 | เข้าชม: 4,774

ดร.วัลลภ ปิยะมโนธรรม นักจิตวิทยา ให้ข้อมูลว่า การหัวเราะทำให้ร่างกายหลั่งสารโดฟามีนที่ช่วยในการเรียนรู้และความทรงจำ ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่ส่งผลดีต่อระบบประสาทของเรา โดยฮอร์โมนโดฟามีจะช่วยลดความเครียด และทำให้ฮอร์โมนคอร์ติซอลกลับมาอยู่ในระดับที่สมดุล ซึ่งจะทำให้ระบบภูมิคุ้มกันและร่างกายของเราแข็งแรงขึ้น ผลจากการที่เราไม่เครียดจะทำให้ร่างกายเราได้พักผ่อนเพียงพอ นอนหลับสนิท จิตใจสงบ รู้สึกสดชื่น และยังทำให้มีสมาธิมากขึ้นด้วย

นอกจากนี้ การหัวเราะ ยังทำให้ออกซิเจนเข้าไปเลี้ยงร่างกายได้เพียงพอ ทำให้การไหลเวียนของเลีอดในร่างกายเป็นไปด้วยดี ซึ่งคนที่สามารถสร้างอารมณ์ขันและหัวเราะได้ ในสถานการณ์ที่เลวร้าย จะทำให้เกิดพลังในตัวเอง คลายความเศร้าหมอง และช่วยเปิดทัศนคติในการมองโลกเป็นไปในทางบวกได้

ความแตกต่างของการหัวเราะธรรมชาติ กับการหัวเราะบำบัด

การหัวเราะแบบธรรมชาติ” เกิดจากสิ่งกระตุ้นให้เราเกิดอารมณ์ขัน แต่การ หัวเราะบำบัด คือ ภายใน โดยผู้หัวเราะจะคอยควบ คุมเส้นประสาทสรีระกายตามอวัยวะส่วนต่าง ๆ ของเรา รวมทั้งกระบวนการหายใจของเราให้ขยับ ขับเคลื่อนโดยไม่จำเป็นต้องมีสิ่งกระตุ้นเร้า หรือใครทำอะไรให้เราเกิดอารมณ์ขัน

ดร.วัลลภ บอกว่า การหัวเราะบำบัดมีหลายแบบ รวมถึงมีการผสมผสานระหว่างการหัวเราะและควบคุมการหายใจของโยคะเข้าด้วยกัน ซึ่งในอเมริกา แคนาดา อังกฤษ และอีกหลายประเทศ ได้นำการรักษาผู้ป่วยด้วยการหัวเราะเข้ามามีบทบาทแทนที่การบำบัดด้วยการใช้ยาคลายเครียด และยาแก้ปวด เพราะอารมณ์ขันให้ผลเช่นเดียวกับการออกกำลังกาย เป็นการเพิ่มระดับฮอร์โมนฝ่ายดี เช่น ฮอร์โมนเอ็นดอร์ฟิน ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่ช่วยระงับความเจ็บปวด และ ฮอร์โมนเซโรโทนิน เป็นฮอร์โมนที่ทำให้เราอารมณ์ดี ขณะเดียวกันก็ทำให้ระดับฮอร์โมนความเครียดลดลง

สำหรับประเทศไทย ศูนย์ให้คำปรึกษาและพัฒนาศักยภาพมนุษย์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ได้คิดค้นการหัวเราะบำบัด โดยผสมผสานการควบคุมการหายใจ การเปล่งเสียงหัวเราะ และการบริหารร่างกายไปพร้อมกัน ซึ่งเป็นการหัวเราะที่ให้ผลเชิงสุขภาพโดยไม่จำเป็นต้องมีอารมณ์ขัน

การฝึกหัวเราะบำบัด เริ่มจากฝึกหัวเราะเพื่อเคลื่อนไหวอวัยวะภายใน 4 ส่วน ด้วยการเปล่งเสียงต่างๆ กัน คือ เสียง "โอ" ทำให้ภายในท้องขยับ เสียง "อา" ทำให้อกขยับขยาย เสียง "อู" เสียง "เอ" ทำให้ลำคอเปิดโล่ง และช่วยบริหารใบหน้า

 

ทั้งนี้ แต่ละเสียงมีท่าทางประกอบและมีประโยชน์ในการบำบัดที่ต่างกันเช่น 1.ท้องหัวเราะ กำมือชูนิ้วโป้งระดับท้อง หายใจเข้าและเปล่งเสียงหัวเราะ "โอ" ขยับมือทั้งสองข้างขึ้นลงเป็นจังหวะ ออกเสียงโอคือการหัวเราะบริเวณท้องจะช่วยในเรื่องอารมณ์ และช่วยให้ระบบทางเดินอาหารทำงานดีขึ้น และช่วยบำบัดโรคลำไส้อักเสบ

2.อกหัวเราะ กางแขนออกหงายฝ่ามือระดับอก หายใจเข้ากลั้นหายใจแล้วปล่อยลมหายใจออกเปล่งเสียงหัวเราะ "อา" ขยับแขนทั้งสองข้างขึ้นลงเป็นจังหวะ กระตุ้นให้กล้ามเนื้อบริเวณหน้าอก หัวใจ ปอด และไหล่ขยับเขยื้อนไปด้วย ท่านี้จะช่วยให้อวัยวะบริเวณหน้าอกทั้งหมดทำงานได้ดีขึ้น

3.คอหัวเราะ ยกมือขึ้นระดับอก กำมือ ยกนิ้วโป้งตั้งขึ้น นิ้วชี้ และนิ้วกลางชี้ไปข้างหน้า หายใจเข้าและเปล่งเสียงหัวเราะ "อู" ขยับแขนตามจังหวะ เน้นพุ่งมือไปด้านหน้า เมื่อเปล่งเสียงอู จะกระตุ้นให้บริเวณลำคอสั่น ท่านี้จะช่วยแก้ปัญหาเจ็บคอ คออักเสบ ปวดคอ สำหรับคนที่มีปัญหาเนื่องจากต้องใช้เสียงเยอะ

4.ใบหน้าหัวเราะ ยกแขนขึ้นระดับใบหน้า ขยับนิ้วคล้ายเล่นเปียโน หายใจเข้าและเปล่งเสียงหัวเราะ "เอ" ขยับนิ้ว เคลื่อนไหวร่างกาย คล้ายท่าแหย่เด็กๆ นอกจากจะได้ฝึกกล้ามเนื้อมัดเล็กที่นิ้วมือแล้ว ท่านี้ยังช่วยฝึกบริหารสมองด้วย

5.ไหล่หัวเราะ เป็นการบริหารช่วงไหล่ ยืนตรงแล้วส่ายไหล่ไปมา เหมือนการว่ายน้ำฟรีสไตล์ พร้อมกับเปล่งเสียง “เอ เอะ ” ใครที่มีปัญหาเกี่ยวกับไหล่ ท่านี้ช่วยได้

6.สมองหัวเราะ โดยธรรมชาติของมนุษย์เมื่อเครียดมักจะปิดปาก เป็นเหตุให้ความดันขึ้นสมอง ท่านี้จะช่วยแก้ปัญหาดังกล่าว โดยปิดปากแล้วเปล่งเสียง “อึ” ดันให้เกิดการสั่นสะเทือน ขึ้นไปนวดสมอง เมื่อทำเสร็จจะรู้สึกโล่ง โปร่งสบาย

7.หัวเราะทั้งตัว เป็นท่าที่ต้องทำพร้อมกันกับผู้อื่น โดยกระโดดพร้อมเสียงหัวเราะแบบสุดๆ ตามแบบของตัวเองอย่างต่อเนื่อง 1 นาที คล้ายท่ากบกระโดด เอามือสองข้างของเราไปตบมือสองข้างของเพื่อน ตามจังหวะ

“เมื่อเริ่มฝึกอย่างต่อเนื่องจะพบว่าทุกส่วนของร่างกายจะโล่ง โปร่ง เบา และสบายขึ้น ความสดชื่นเข้ามาแทนที่ เมื่อชีวิตมีความสดชื่นจะส่งผลไปถึงการมองโลกวิธีคิดหรือมุมมองการใช้ชีวิตเปลี่ยน ทั้งนี้ การดูแลสุขภาพร่างกายให้ดีแบบองค์รวมจะต้องควบคู่ไปกับการบริโภคที่ดี และออกกำลังกายที่เหมาะสมด้วย” ดร.วัลลภ กล่าวทิ้งท้าย

 

ได้ยินแบบนี้แล้ว...มาเริ่มเปล่งเสียงหัวเราะเพื่อสุขภาพกายใจที่ดีกันเถอะ

 

เรื่องโดย : กิดานัล กังแฮ Team Content www.thaihealth.or.th