ลดสถานการณ์ปัญหา 'ไม่สูบบุหรี่' สำคัญที่ 'ประชาชน'

คอลัมน์ความคิด 21 ส.ค. 57 | เข้าชม: 9,574

สถานการณ์การ "สูบบุหรี่" หรือ 'ปัญหาด้านสุขภาพอันเนื่องจากการสูบบุหรี่" ในประเทศไทยในปัจจุบัน มีรายงาน มีข้อมูลออกมา ในทำนองว่าก็ยังไม่ค่อยคลี่คลายไปในทางที่ดีขึ้นอย่างที่ควรจะเป็น?? 

หลายส่วนที่เกี่ยวข้องทำเรื่องนี้กันต่อเนื่อง
ก็น่าคิดว่าไฉนสถานการณ์ไม่ค่อยดีขึ้น???

ทั้งนี้ ข้อมูลสถานการณ์เกี่ยวกับการสูบบุหรี่ในไทยที่มีออกมาจากส่วนต่าง ๆ ในระยะหลัง ๆ ก็มีอาทิ...ประมาณ 18.4% ของจำนวนประชากรโดยรวม คือจำนวนตัวเลขผู้สูบบุหรี่ในไทย จากข้อมูลของทางสำนักงานสถิติแห่งชาติ ซึ่งก็เป็นจำนวนตัวเลขที่เพิ่มขึ้น 0.3% จากปี 2552 ที่ตัวเลขผู้สูบบุหรี่นั้นอยู่ที่ประมาณ 18.1%

เมื่อโฟกัสคร่าว ๆ ที่กฎระเบียบต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับการควบคุมแก้ไขปัญหาอันสืบเนื่องจากการสูบบุหรี่ ปัจจุบันมีกฎกระทรวง ประกาศกระทรวง กฎหมายที่ออกมาภายใต้ พ.ร.บ.ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ และ พ.ร.บ.คุ้มครองสุขภาพผู้ไม่สูบบุหรี่ ที่ทยอยออกมาตั้งแต่ปี 2552 ราว 47 ฉบับ และยังมีการผลักดันกฎระเบียบใหม่ ๆ

ขณะที่สถานการณ์ยังไม่ค่อยคลี่คลายในทางที่ดี

ท่ามกลางการผลักดัน-การควบคุมแก้ไขปัญหาอันสืบเนื่องจากการสูบบุหรี่ ไม่ว่าจะเป็นทางด้าน ภาษี พื้นที่ห้ามสูบ การรณรงค์เรื่องโทษภัยในการสูบ ซึ่งแน่นอนว่าเป็นเรื่องที่ดี แต่กระนั้น...ที่ผ่าน ๆ มาบางทีก็มีประเด็นทั้งใหม่และเก่าที่มีการเห็นต่าง หรือมีปุจฉา?? ไม่ว่าจะเป็นกรณีการปรับขึ้นภาษีกับสัมฤทธิผลในการลดจำนวนผู้สูบบุหรี่ ที่บางหน่วยงานและองค์กรที่เกี่ยวข้องเคยมีการเห็นต่างกันเกี่ยวกับผลการสำรวจ

หรืออย่าง...บุหรี่ไฟฟ้า ทางฝ่ายสาธารณสุขนั้น ในด้านหนึ่ง ที่รวมถึงในไทย ก็ได้มีการผลักดันการควบคุม ด้วยเหตุผลที่ว่า...ก็มีอันตรายในการก่อเกิดโรคมะเร็งไม่ต่างจากบุหรี่มวน!! แต่ในขณะเดียวกัน ทางฝ่ายสาธารณสุขเช่นกัน ก็มีกลุ่มนักวิจัยด้านสาธารณสุขจาก 15 ประเทศ ประมาณ 53 คน ได้รวมตัวลงนามส่งถึงองค์การอนามัยโลก เพื่อให้ไตร่ตรองความตั้งใจที่จะควบคุมบุหรี่ไฟฟ้าไว้กลุ่มเดียวกับบุหรี่ธรรมดา ด้วยเหตุผลประมาณว่า...นี่ถือเป็นนวัตกรรมทางด้านสุขภาพ ซึ่งอาจเป็นนวัตกรรมที่จะช่วยรักษาชีวิตมนุษย์ได้??

นี่เป็นตัวอย่างการเห็นต่างที่บางคนก็อาจสับสน

นอกจากนี้ มองกันตรง ๆ ในไทย ก็มีอีกตัวอย่างในเชิงการตั้งข้อสังเกต คือ ยาเส้น ซึ่งมีข้อมูลออกมาจากบางแหล่งว่า...48.1% คือจำนวนตัวเลขผู้สูบยาเส้นมวนเองในไทย ซึ่งยาเส้นมวนเองมีอันตรายต่อสุขภาพไม่ต่างจากบุหรี่ธรรมดา!! แต่จากการปรับขึ้นภาษีและการออกกฎหมายที่ผ่าน ๆ มา ยาเส้นมวนเองกลับไม่ต้องเสียภาษีและไม่มีกฎหมายควบคุมเข้มงวดเหมือนบุหรี่มวน?? การดำเนินการต่าง ๆ ในส่วนนี้ยังมีความแตกต่าง

'ถ้าทาง คสช. ได้ศึกษาผลการดำเนินการในเรื่องนี้ที่ผ่าน ๆ มา ก็น่าจะต้องไตร่ตรองเกี่ยวกับนโยบายและกฎหมายให้ถี่ถ้วน และควรจะต้องหารือกับหลากหลายฝ่าย เพื่อหาวิธีการดำเนินการใหม่ ๆ ที่จะช่วยลดจำนวนผู้สูบบุหรี่ และต่อกรกับบริษัทบุหรี่ได้มากขึ้น"...นี่เป็นเสียงเสนอจากบางฝั่งฝ่าย

ทั้งนี้และทั้งนั้น ที่ผ่านมาประเทศไทยมีการใช้-มีการสูญเสียงบประมาณเกี่ยวกับ "ปัญหาจากบุหรี่" ไปแล้วจำนวนมหาศาล ขณะที่บางฝั่งฝ่ายก็มีการตั้งข้อสังเกต หรือมีปุจฉา กับสถานการณ์ที่ยังไม่ค่อยคลี่คลาย

อย่างไรก็ตาม นอกเหนือจากประเด็นนโยบาย การดำเนินการของหน่วยงานองค์กรต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง รวมถึงกับข้อเห็นต่าง ข้อสังเกตต่าง ๆ ซึ่ง ณ ที่นี้เชื่อว่าก็ล้วนแล้วแต่พยายามกันจริงจังเต็มที่ และด้วยความหวังดีต่อปัญหาสุขภาพคนไทย ในส่วนของ ประชาชนเองก็นับว่าสำคัญต่อการ 'ลดปัญหา-แก้ปัญหาจากบุหรี่"

จากข้อมูลเผยแพร่ที่เรียบเรียงโดยสำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ โรคจากการสูบบุหรี่นั้น ที่สำคัญคือ...มะเร็งเช่น มะเร็งที่ปาก ที่ลิ้น ที่กล่องเสียง และที่เป็นมากที่สุดคือ มะเร็งปอด ซึ่งผู้ที่สูบบุหรี่จัดมีโอกาสตายด้วยมะเร็งมากกว่าผู้ไม่สูบบุหรี่ถึง 20 เท่า ดังนั้น ไม่สูบบุหรี่ทุกรูปแบบได้เป็นดี ที่สูบอยู่เลิกได้ก็จะดี

ข้อดีของการเลิกสูบบุหรี่ ก็เช่น...สุขภาพร่างกายจะแข็งแรงขึ้นมากกว่าตอนที่ยังสูบ โลหิตจะไหลเวียนดีขึ้น ประสาทในการรับรสและกลิ่นจะมีการทำงานดีขึ้น อาการไอ และการมีเสมหะจะลดลง สภาพของปอดจะทำงานได้ดีขึ้น แม้แต่เรื่องสมรรถภาพทางเพศก็จะดีขึ้น อายุจะยืนยาวขึ้น และภาวะเศรษฐกิจก็จะดีขึ้นด้วยอีกต่างหากเพราะไม่ต้องสิ้นเปลืองเงินซื้อบุหรี่ ซึ่งวิธีที่จะเลิกสูบบุหรี่นั้นก็มีคำแนะนำ

เช่น...ดูแลตัวเอง ทำจิตใจให้เข้มแข็ง ทิ้งบุหรี่และที่เขี่ยบุหรี่ไป อยู่ห่างจากสภาพแวดล้อมที่ทำให้สูบบุหรี่ หากิจกรรมทำ ห้ามใจอ่อนกับตัวเอง คอยย้ำเตือนตัวเอง เป็นต้น ขณะที่คนใกล้ ๆ ตัวก็ควรจะช่วยกันให้กำลังใจ และปัจจุบันก็มีศูนย์บริการเลิกบุหรี่ทางโทรศัพท์ สายเลิกบุหรี่ โทร.1600 ที่ให้บริการให้คำปรึกษาด้วย

ปัญหาสุขภาพคนไทยจากการสูบบุหรี่ยังมาก

หลาย ๆ ฝ่ายก็พยายามแก้ไข และเสนอแนะ

ขณะที่คนไทยเองก็ถือเป็นกลไกที่สำคัญ!!!.

 

เดลินิวส์ (กรอบบ่าย) ฉบับวันที่ 16 สิงหาคม พ.ศ. 2557