สานพลังสร้างสังคมสุขภาวะ ด้วยนวัตกรรมชุมชน

คอลัมน์ความคิด 3 ส.ค. 65 | เข้าชม: 1,789

สิ่งที่ใครหลายคนเคยคิดวาดฝันเอาไว้เมื่อหลายสิบปีก่อนว่า สักวันหนึ่งอยากจะเห็นสังคมไทยเต็มไปด้วยรอยยิ้ม ผู้คนมีความสุข ชุมชนมีความเข้มแข็ง มาวันนี้หลายสิ่งหลายอย่างเกิดขึ้นเป็นรูปธรรมชัดเจน และกำลังก้าวไปสู่การเป็นสังคมสุขภาวะยั่งยืน

นับเป็นเรื่องที่น่ายินดีที่ทางสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับภาคีเครือข่าย จัดเวที “สานพลัง สร้างนวัตกรรม สู่สุขภาวะชุมชนที่ยั่งยืน” เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้และถอดบทเรียนการสร้างเสริมสุขภาวะชุมชนร่วมกัน

“เราทุกคนกำลังอยู่ในโลกที่เปลี่ยนเร็ว ดังนั้น ก้าวต่อไปของชุมชนท้องถิ่นต้องปรับตัวตามเทคโนโลยีที่ก้าวกระโดด และพัฒนาสร้างเครื่องมือสนับสนุนสุขภาวะชุมชนให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของสังคมโลก” เป็นความเห็นของ ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุน สสส.

ดร.สุปรีดา กล่าวว่า ที่ผ่านมา สสส. ให้ความสำคัญกับการสร้างเสริมสุขภาพด้วยทุนทางสังคมและศักยภาพของชุมชนท้องถิ่น โดยศึกษาเรื่องนี้อย่างจริงจัง เพื่อทำให้ทุกคนบนแผ่นดินไทยมีวิถีชีวิต สังคม และสิ่งแวดล้อม ที่สนับสนุนการสุขภาวะที่ดี โดยมีทิศทางและเป้าหมายเชิงยุทธศาสตร์ 7+1 ได้แก่ การควบคุมการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ความปลอดภัยทางท้องถนน กิจกรรมทางกาย สุขภาพจิต มลพิษจากสิ่งแวดล้อม ปัญหาสุขภาพอุบัติใหม่และปัจจัยเสี่ยงอื่น และความเหลื่อมล้ำด้านสุขภาพ

ผู้จัดการกองทุน สสส. กล่าวต่อว่า สำหรับการเดินทางสู่ทศวรรษที่ 3 ของการสร้างเสริมสุขภาวะชุมชนของ สสส. หรือการทำงานในเชิงพื้นที่ เรายังคงทำงานอย่างเข้มข้นร่วมกับเครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ที่มีสมาชิกกว่า 3,000 ตำบลทั่วประเทศ และภาคีเครือข่ายสร้างเสริมสุขภาพ โดยมีเป้าหมายอยู่ 5 ประการ

  1. รองรับชุมชนที่หลากหลาย ภูมิศาสตร์ระดับต่าง ๆ เมืองและชนบท ระบบปกครอง เศรษฐกิจ และสังคม
  2. หลากหลายทางเข้า จุดนำการเปลี่ยนแปลง สร้างผู้นำการเปลี่ยนแปลง พร้อมมีกลไกสนับสนุนการทำงาน
  3. ปรับตามสังคมที่เปลี่ยนแปลง คนรุ่นใหม่ วิถีชีวิตใหม่ และปัญหาสุขภาวะใหม่
  4. ปรับตามเทคโนโลยีที่ก้าวกระโดด ทั้งดิจิทัล และแบบออนไลน์
  5. พิสูจน์สุขภาวะ ที่สร้างได้ สุขภาวะที่สมบูรณ์ทั้งทางกาย จิตใจ สังคม และปัญญา

ด้าน นายแพทย์พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ ประธานกรรมการบริหารแผน คณะที่ 2 สสส. กล่าวว่า สิ่งสำคัญที่สุดคือ เราต้องการจะผลักดันไปสู่นโยบายสาธารณะที่ทำกันได้ทั้งจังหวัด ทำกันได้ทั้งประเทศ ถึงแม้จะเป็นเพียงต้นแบบในระดับชุมชน แต่ถ้าเห็นความสำคัญ ก็จะนำไปสู่นโยบายเกี่ยวกับสุขภาวะชุมชนที่ยั่งยืน ขณะเดียวกันต้องเปิดรับและปรับตัวเพื่อนำไปสู่นวัตกรรมในการแก้ปัญหาด้วย

“ชุมชนท้องถิ่น ท้องที่ และเครือข่าย นับเป็นพลังที่สำคัญยิ่ง ในการดูแลพี่น้องประชาชนให้มีสุขภาวะที่ดี เพื่อขับเคลื่อนไปสู่สุขภาวะชุมชนที่ยั่งยืนต่อไป” นายแพทย์พรเทพ กล่าว

สอดคล้องกับ นางประภาศรี บุญวิเศษ ประธานกรรมการบริหารแผน คณะที่ 5 สสส. กล่าวถึงนวัตกรรมชุมชนท้องถิ่นว่า สามารถนำมาเป็นต้นแบบในการพัฒนาต่อยอดได้ เป็นสิ่งที่อยากให้มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เชื่อมโยงซึ่งกันและกัน เพราะจะทำให้องค์ความรู้หรือนวัตกรรม มีประสิทธิภาพ มีประสิทธิผล และลดในเรื่องการใช้จ่ายงบประมาณ

“ชุมชนท้องถิ่นเป็นหน่วยของการพัฒนาที่จำเป็น นวัตกรรมต่าง ๆ ที่ชุมชนได้ทำเป็นการรวมกลุ่มขับเคลื่อนงานโดยใช้ทุนทางสังคมที่มีอยู่ ซึ่งเกิดเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง สสส. ยินดีให้การสนับสนุน โดยเฉพาะการสร้างความมั่นคงทางอาหารโดยชุมชนท้องถิ่น และส่งเสริมกิจกรรมทางกาย เพื่อสร้างเสริมสุขภาวะชุมชน” นางประภาศรี กล่าว

หากเปรียบสังคมสุขภาวะเป็นเมล็ดพันธุ์ที่ สสส. และภาคีเครือข่าย ได้ช่วยกันหว่านโปรยไว้ทั่วประเทศตลอดระยะเวลาหลายสิบปีที่ผ่านมา ในวันนี้เราคงได้เห็นถึงการเจริญเติบโตที่เข้มแข็ง มีรากที่หยั่งลึก และพร้อมที่จะผลิดอกออกผลในอนาคต ซึ่งนับเป็นสัญญาณที่ดีในการเดินหน้าสานพลัง เพื่อสร้างสังคมสุขภาวะให้เกิดขึ้นอย่างแท้จริง

 

เรื่องโดย ฉัตร์ชัย นกดี Team Content www.thaihealth.or.th

ข้อมูลจาก เวที “สานพลัง สร้างนวัตกรรม สู่สุขภาวะชุมชนที่ยั่งยืน”