ศิริราช ชี้คนสูบบุหรี่ อาจเป็นโรคพังผืดที่ปอด หากติดเชื้อโควิด แม้รักษาหายแล้วก็ตาม

คอลัมน์ความคิด 7 ก.ย. 64 | เข้าชม: 4,261

ประชุมภาคีบุหรี่นานาชาติ เปิดงานวิจัยหลายชาติ “บุหรี่กับโควิด-19” ยิ่งสูบ ยิ่งเสี่ยง ทั้งตาย-ติดเชื้อโควิด มากกว่าคนไม่สูบ แนะทุกประเทศเร่งสื่อสารเตือนประชาชน ควรเลิกสูบทั้งบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้า นายกสมาคมอุรเวชฯ เผย คนสูบบุหรี่ติดโควิด ระยะยาวเสี่ยงป่วยโรคผังผืดที่ปอด โรคปอด และทางเดินหายใจเรื้อรัง

เมื่อเร็วๆนี้ ศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ(ศจย.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และอีก 12 องค์กรพันธมิตร จัดการประชุมบุหรี่หรือสุขภาพเอเชียแปซิฟิก ครั้งที่ 13 (13th Asia Pacific Conference on Tobacco or Health: APACT 2021 Bangkok) โดยมีอาจารย์ ผู้เชี่ยวชาญจากนานาประเทศเข้าร่วมแลกเปลี่ยนข้อมูลทางวิชาการร่วมกัน

รศ.นพ.นิธิพัฒน์ เจียรกุล

 

โดย รศ.นพ.นิธิพัฒน์ เจียรกุล หัวหน้าสาขาวิชาโรคระบบการหายใจและวัณโรค ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ในฐานะนายกสมาคมอุรเวชแห่งประเทศไทย กล่าวในการประชุมฯ ว่า จากการเก็บข้อมูลผู้ผู้ติดเชื้อที่เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลศิริราช ในช่วงการแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 (โควิด-19) ระลอกแรก เมื่อปี 2563 พบ ผู้ติดเชื้อโควิดที่เป็นเพศชายมากกว่าเพศหญิง ทั้งในกลุ่มอายุน้อยกว่า 35 ปี และกลุ่มที่อายุมากกว่า 35 ปี ผู้ป่วยมากกว่าครึ่งเคยมีประวัติการสูบบุหรี่ และมีผู้ติดเชื้อราว 10% ที่ต้องเข้ารับการรักษาในห้องไอซียู ตัวเลขกลุ่มผู้ติดเชื้อในระลอกแรกของไทยมีจำนวนน้อย แต่ผลการเก็บข้อมูลทำให้ทีมวิจัยทราบว่า ผู้ป่วยโควิด-19 ที่เคยมีประวัติสูบบุหรี่จะมีอาการรุนแรงและเสี่ยงต่อการเสียชีวิตมากกว่าคนที่ไม่สูบบุหรี่ ซึ่งขณะนี้ทีมวิจัยกำลังเก็บข้อมูลผู้ป่วยโควิดในช่วงการระบาดระลอกใหม่นี้เพื่อทำการศึกษาต่อไป เพราะมียอดผู้ติดเชื้อที่เข้ารับการรักษาด้วยอาการปอดอักเสบที่โรงพยาบาลเป็นจำนวนมาก

“ประเทศไทยกำลังเผชิญกับการระบาดของโควิด-19 การออกมาให้ข้อมูลและข้อเท็จจริงถึงความเชื่อมโยงของเชื้อไวรัสและพฤติกรรมการสูบบุหรี่เป็นเรื่องจำเป็น เพราะบุหรี่ทำให้เกิดการติดเชื้อปอดด้านล่างได้ง่าย เชื้อโควิดทำให้ระบบภูมิคุ้มกันลดลง ยิ่งคนสูบบุหรี่อยู่ร่วมกันเป็นกลุ่มก็จะทำให้เกิดการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสได้ นอกจากนี้ผู้ที่มีประวัติการสูบบุหรี่อาจจะต้องเผชิญมีปัญหาโรคพังผืดที่ปอด โรคปอดและทางเดินหายใจเรื้อรังได้ในระยะยาวหากติดเชื้อโควิด แม้ว่าจะได้รับการรักษาหายแล้วก็ตาม ทั้งนี้ ในภาวะที่คนส่วนใหญ่รวมทั้งนักสูบ ต้องกักตัวอยู่บ้านในช่วงการล็อกดาวน์ หรือต้องรักษาตัวอยู่บ้าน อาจจะทำให้เกิดความเครียดได้ หากมีโครงการดูแลให้คำปรึกษาผู้สูบบุหรี่ เยียวยาทางจิตใจ จะเป็นอีกหนึ่งวิธีที่ช่วยให้ผู้สูบสามารถเลิกบุหรี่ได้ในอนาคต” นพ.นิธิพัฒน์ กล่าว

 

อ้างอิง Sun, 2021-09-05 20:26 -- hfocus team

https://www.hfocus.org/content/2021/09/22961?fbclid=IwAR2ERtJyMdQ5vOfTEfbgyK7HA-8Om1m4UWarNK_0wDMBFAuWfhlj7HJwFEM