โรคหลอดเลือดสมองตีบตัน-เส้นเลือดในสมองแตก (Stroke) รู้ทันก่อนก็รอด ปลอดจากอัมพาต

คอลัมน์ความคิด 12 ต.ค. 63 | เข้าชม: 3,693
พฤติกรรมการใช้ชีวิตรวมทั้งการเผชิญกับมลภาวะรอบตัวในทุก ๆ วัน ได้สร้างโรคภัยไข้เจ็บต่าง ๆ มาทำร้ายเรา หนึ่งในนั้นก็คือ โรคหลอดเลือดสมอง ที่หลายคนไม่รู้ด้วยซ้ำว่านิสัยที่ตัวเองทำเป็นประจำก่อให้เกิดภาวะเสี่ยงโรคนี้อยู่ ทั้งความเครียด การสูบบุหรี่ ดื่มเหล้า การไม่ออกกำลังกาย สุดท้ายก็เกิดโรคความดันโลหิตสูง เบาหวาน โรคหัวใจ นำพาต่อไปยังโรคหลอดเลือดสมองที่หากตีบ อุดตัน หรือหลอดเลือดแตกขึ้นมาในวันใด ความพิการจะมาเยือนเรา หรืออาจร้ายแรงถึงขั้นเสียชีวิต
โรคหลอดเลือดสมอง คืออะไร
โรคหลอดเลือดสมอง (Stroke) บางคนอาจเรียกว่า โรคอัมพฤกษ์ อัมพาต เพราะในบางกรณีโรคหลอดเลือดสมองอาจไม่ทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิต แต่ก็ทำให้ผู้ป่วยมีความพิการ เป็นอัมพฤกษ์ อัมพาต สร้างความทุกข์ทรมานใจให้กับทั้งตัวผู้ป่วยเองและคนในครอบครัว และยังทำให้เกิดการสูญเสียทางเศรษฐกิจและสังคมเป็นอย่างมาก ซึ่งการเป็นอัมพฤกษ์ อัมพาตนั้น เป็นเพราะสมองขาดเลือด หรือมีเลือดไปเลี้ยงสมองไม่พอ ทำให้เซลล์ในสมองและการทำงานของสมองหยุดชะงัก
โรคหลอดเลือดสมอง สาเหตุเกิดจากอะไร
โรคหลอดเลือดสมอง เกิดได้จากสาเหตุ 2 ประการคือ หลอดเลือดสมองแตก (พบผู้ป่วยประมาณ 20-30%) และหลอดเลือดสมองตีบ หรืออุดตัน (พบผูป่วยประมาณ 70-80%)
 
โรคหลอดเลือดสมอง อาการไหนเสี่ยง มีสัญญาณเตือนไหม
โรคหลอดเลือดสมองเป็นภัยจ้องคร่าชีวิตเราอยู่เงียบ ๆ เพราะมีหลายคนที่กว่าจะรู้ตัวว่าป่วยก็มีอาการหนักจนต้องหามส่งโรงพยาบาลแล้ว ขณะที่อีกหลายคนไม่มีอาการเตือนล่วงหน้า มารู้อีกทีก็เส้นเลือดในสมองก็แตกหรือตีบไปแล้ว ดังนั้นสิ่งหนึ่งที่ช่วยได้คือ หมั่นสังเกตความผิดปกติของร่างกายตัวเอง โดยหากมีอาการแปลก ๆ เหล่านี้เกิดขึ้น ก็ให้สงสัยไว้ก่อนเลยว่าอาจเกี่ยวข้องกับโรคหลอดเลือดสมอง
-  มีอาการแขนขาอ่อนแรง หรือชา อาจเป็นที่ซีกใดซีกหนึ่งของร่างกาย
-  มีอาการชาหรืออ่อนแรงของใบหน้าซีกใดซีกหนึ่ง ปากเบี้ยว เป็นทันทีทันใด
-  ตาพร่ามัว ตาข้างใดข้างหนึ่งมืดหรือมองไม่เห็นไปชั่วครู่ หรือมองเห็นภาพซ้อน
-  มีอาการวิงเวียน บ้านหมุน เดินเซ ทรงตัวไม่ได้ บางรายอาจเดินไม่ได้
-  พูดลำบาก พูดไม่ออก ฟังไม่เข้าใจภาษา เป็นแบบทันทีทันใด
-  กลืนอาหารลำบาก สำลักบ่อย ๆ
-  รู้สึกสับสน
-  ปวดศีรษะอย่างรุนแรงในแบบที่ไม่เคยเป็นมาก่อน มักเกิดขึ้นขณะมีอารมณ์เคร่งเครียดหรืออยู่ในอารมณ์รุนแรง ร่วมกับอาเจียนหรือหมดสติ
โรคหลอดเลือดสมอง ป้องกันได้

โรคหลอดเลือดสมองสามารถกลับมาเป็นซ้ำได้ หากมีพฤติกรรมเสี่ยง ดังนั้นเพื่อเป็นการลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดสมอง เราควรปฏิบัติตัวดังนี้
1. ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมออย่างน้อย 150 นาทีต่อสัปดาห์
2. รักษาน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน อย่าปล่อยให้อ้วน
3. ควบคุมระดับไขมันในเลือดให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ
4. จำกัดหรือหลีกเลี่ยงการเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ 
5. งดสูบบุหรี่ 
6. ลดการบริโภคอาหารรสเค็มจัด เพื่อป้องกันภาวะความดันโลหิตสูง
7. บริโภคอาหารที่มีไขมันต่ำ อาหารที่มีเส้นใยสูง
8. ตรวจสุขภาพร่างกายเพื่อหาความเสี่ยง เช่น ความดันโลหิต เบาหวาน โรคหัวใจ
9. หากเป็นผู้ป่วยโรคเสี่ยง เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ต้องดูแลตัวเองให้ดี ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดและความดันให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ และต้องรักษาอย่างต่อเนื่องเพื่อให้หายจากโรค
10. เรียนรู้ สัญญาณเตือนของการเกิดโรคหลอดเลือดสมองและแนวทางการป้องกัน
11. หากมีอาการผิดปกติ เช่น แขนขาอ่อนแรง ปากเบี้ยว พูดลำบาก เวียนศีรษะ มองเห็นภาพซ้อน ควรรีบพบแพทย์โดยเร็วที่สุด เพราะเซลล์สมองขาดเลือดเพียง 1 นาที จะมีเซลล์สมองตายประมาณ 1 ล้านเซลล์ ถ้าได้รับการรักษาช้า อาจทำให้เกิดความพิการมากขึ้น
 
โรคหลอดเลือดสมองเป็นภัยเงียบที่น่ากลัวอย่างยิ่ง เพราะไม่มีใครรู้ได้ว่า ในวันนี้ที่เรายังดูแข็งแรง พูดคุย ทำกิจกรรมอะไรได้ตามปกติ แต่ในวันรุ่งขึ้นเราอาจกลายเป็นคนพิการจากการคุกคามของโรคหลอดเลือดสมอง เช่นนั้นแล้วอย่าปล่อยปละละเลยสุขภาพร่างกายของตัวเองเด็ดขาด พยายามเลี่ยงจากปัจจัยเสี่ยงโรคหลอดเลือดสมอง เพื่อจะได้อยู่กับคนที่คุณรักไปได้อีกนาน ๆ และหากพบอาการผิดปกติให้รีบไปพบแพทย์ทันที เพราะโรคนี้รักษาเร็วก็รอด ปลอดจากอัมพาตได้
 
 
ขอบคุณ
https://health.kapook.com/view77.html?fbclid=IwAR2YQxR9xDA4aPHm4N2hFUrRkoaofjupcSrtr5kb47HAx9ZFQC0S4zbXavs