ทำไมร้านอินเตอร์เน็ตและเกมส์ ต้องปลอดบุหรี่

คอลัมน์ความคิด 24 ก.พ. 57 | เข้าชม: 3,562

 

มูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ ร่วมกับ ภาควิชาสุขศึกษาและพฤติกรรมศาสตร์ คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล แถลงข่าวผลงานการศึกษาการปฏิบัติตามกฎหมายคุ้มครองสุขภาพของผู้ไม่สูบบุหรี่ พ.ศ. 2535 ของผู้ประกอบการร้านอินเตอร์เน็ตและเกมส์ 

 

ผศ.ดร.ลักขณา เติมศิริกุลชัย หัวหน้าคณะทีมวิจัยจากภาควิชาสุขศึกษาและพฤติกรรมศาสตร์ คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดเผยว่า  ควันบุหรี่ในสิ่งแวดล้อมเป็นอันตรายต่อสุขภาพของผู้ไม่สูบบุหรี่ ประเทศไทยมีมาตรการคุ้มครองสุขภาพผู้ไม่สูบบุหรี่ โดยมีการออกพระราชบัญญัติคุ้มครองสุขภาพของผู้ไม่สูบบุหรี่ พ.ศ. 2535 ซึ่งกำหนดให้สถานที่สาธารณะต่างๆที่ประชาชนไปใช้บริการจะต้องจัดเป็นเขตปลอดบุหรี่ และจัดเขตสูบบุหรี่ 

 

ต่อมาในปี 2553 กระทรวงสาธารณสุข มีการออกประกาศกระทรวงสาธารณสุขฉบับที่ 19 กำหนดให้สถานที่สาธารณะและที่ทำงานเป็นเขตปลอดบุหรี่ มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 28 มิถุนายน 2553 เป็นต้นมา ตามประกาศกระทรวงดังกล่าวมีการห้ามสูบบุหรี่ 100% ในสถานที่สาธารณะและสถานที่ทำงานต่างๆ และรวมถึงร้านอินเตอร์เน็ตด้วยมีการสำรวจในปี 2548 พบว่าสถานที่ราชการมีถึงร้อยละ 34 ที่ไม่มีการติดป้ายเขตปลอดบุหรี่ และข้อมูลการสำรวจการบริโภคยาสูบในผู้ใหญ่ ปี 2554 พบว่า ประชาชนได้รับควันบุหรี่มือสองจากสถานประกอบการ การขนส่งมวลชน ผับ/บาร์ และตลาดนัด คิดเป็นร้อยละ 30.5, 25.6, 68.4 และ 68.8 ตามลำดับ สำหรับร้านอินเตอร์เน็ตและเกมส์ยังไม่มีการศึกษาในเรื่องนี้ ปัจจุบันร้านอินเทอร์เน็ตและเกมส์ที่ขึ้นทะเบียนจำนวน 17,749 ร้าน และพบว่า 50% ของวัยรุ่นในเมืองใช้บริการร้านอินเตอร์เน็ต โดยเข้าร้านอินเตอร์เน็ต 2-3 ครั้ง/สัปดาห์ อยู่ในร้านนาน 30 นาที/ครั้งเสียค่าใช้จ่าย  537 บาท/เดือน (14.3% ของรายได้/เดือน) พบว่าวัยรุ่น 1.7 ล้านคนจะได้รับควันบุหรี่มือสองจากร้านอินเตอร์เน็ต ดังนั้นร้านอินเตอร์เน็ตจึงเป็นแหล่งของความเสี่ยงต่อการได้รับควันบุหรี่มือสองของผู้รับบริการได้ ถ้าไม่มีการจัดเป็นเขตปลอดบุหรี่ ตามที่กฎหมายกำหนด

 

ด้าน ผศ.ดร.ภรณี  วัฒนสมบูรณ์ หนึ่งในคณะวิจัยเปิดเผยผลการวิจัยเพิ่มเติมว่าร้านอินเตอร์เน็ตส่วนใหญ่ร้อยละ 99.5 ไม่มีการจำหน่ายบุหรี่ในร้าน ร้อยละ 10 ไม่ปฏิบัติตามพรบ.คุ้มครองสุขภาพไม่สูบบุหรี่ ร้อยละ 67 ปฏิบัติตามบางส่วน มีเพียงร้อยละ 23 ที่ปฏิบัติตามครบถ้วนคือมีการติดป้ายเขตปลอดบุหรี่  ไม่จัดที่เขี่ยบุหรี่และไฟแช็ค รวมทั้งมีการตักเตือนถ้ามีการสูบบุหรี่ในร้าน ทั้งนี้พบว่าประเด็นที่ร้านอินเตอร์เน็ตมีการทำผิดมากที่สุดคือการไม่ติดป้าย/สติ๊กเกอร์เขตปลอดบุหรี่ คิดเป็นร้อยละ 50.5

 

สำหรับเรื่องความรู้พบว่าร้อยละ 37.5 ของผู้ประกอบการ มีความรู้เกี่ยวกับพิษภัยของควันบุหรี่ในระดับต่ำ และในระดับปานกลาง ร้อยละ 48.8 ประเด็นที่ส่วนใหญ่ (มากกว่า 50% ขึ้นไป) ยังไม่ทราบ ได้แก่ พิษของสารคาร์บอนมอนอกไซด์จากควันบุหรี่ (97.6%), ผลกระทบต่อสุขภาพของการสูบบุหรี่ก้นกรอง (67.0%), โอกาสในการเจ็บป่วยจากการได้รับควันบุหรี่ในสิ่งแวดล้อมและการสูบบุหรี่โดยตรงมีความแตกต่างกัน (66.5%) และผลของการได้รับควันบุหรี่มือสอง (57.5%)

 

ขณะที่ความรู้เกี่ยวกับกฎหมายฯ เกือบครึ่งหนึ่ง 43.2% มีความรู้ในระดับต่ำประเด็นที่ส่วนใหญ่ยังไม่ทราบ ได้แก่สถานที่สาธารณะที่ห้ามสูบบุหรี่ 51.5% ไมรู้ว่าการสูบบุหรี่ในร้านเป็นเรื่องผิดกฎหมาย,บทลงโทษสำหรับผู้ประกอบการที่ไม่จัดร้านให้เป็นเขตปลอดบุหรี่ 92.7% และการไม่ติดป้ายเขตปลอดบุหรี่ในร้าน 89.6%

 

ผศ.ดร.ภรณี  กล่าวเพิ่มเติมว่า จากการวิจัย 2 ใน 3 ของผู้ประกอบการฯ 66.7% มีความตระหนักในสิทธิของผู้ใช้บริการในการอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยต่อสุขภาพและผลกระทบต่อสุขภาพของผู้ใช้บริการจากพิษภัยในควันบุหรี่ในระดับสูง ประเด็นที่เกือบทั้งหมดให้ความตระหนัก คือ ต้องห้ามไม่ให้มีการสูบบุหรี่ในร้านเพื่อปกป้องสิทธิของผู้ใช้บริการที่ไม่สูบบุหรี่ 91.0% ถ้า ไม่จัดร้านให้เป็นเขตปลอดบุหรี่จะส่งผลต่อสุขภาพของผู้ใช้บริการที่ไม่สูบบุหรี่ 87.5%

 

ในขณะที่ ผู้ประกอบการร้อยละ 46.9 มีความรู้สึกต่อแรงกดดันหรือความต้องการให้ปฏิบัติตามกฎหมายคุ้มครองสุขภาพของผู้ไม่สูบบุหรี่ จากผู้ใช้บริการอยู่ในระดับสูงขณะที่อิทธิพลของร้านอินเตอร์เน็ตและเกมส์อื่นๆ รวมทั้งจากเจ้าหน้าที่มีเพียงร้อยละ 29.7 และ 39.6 ตามลำดับ และมีเกือบครึ่งที่ไม่แน่ใจถึงแรงกดดันให้ปฏิบัติตามข้อกำหนดของกฎหมายฯ จากลูกค้า จากร้านอินเตอร์เน็ตอื่น และจากเจ้าหน้าที่คิดเป็น 46.2, 56.7 และ 42.9% ตามลำดับ

 

นอกจากนั้นยังพบว่ามีร้านอินเตอร์เน็ตเพียง 36.6% ที่ได้รับข้อมูลข่าวสารเรื่องกฎหมายดังกล่าวและมีเพียง 22.7% ที่ได้รับสื่อ/สติ๊กเกอร์เขตปลอดบุหรี่ 

 

ดังนั้นกระทรวงสาธารณสุขจึงควรรณณรงค์ให้ความรู้ในเรื่องกฎหมายและสนับสื่อสติ๊กเกอร์เขตปลอดบุหรี่ให้ร้านอินเตอร์เน็ตผ่านหน่วยงาน/องค์กรที่เกี่ยวข้องเช่นกระทรวงวัฒนธรรมและบริษัทเจ้าของลิขสิทธ์ออนไลน์

 

ศ.นพ.ประกิต  วาทีสาธกกิจ  เลขาธิการมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่  กล่าวว่าการบังคับใช้กฎหมายให้อินเตอร์เน็ตปลอดบุหรี่จริง ๆ มีประโยชน์ไม่เพียงแต่คุ้มครองผู้ที่เข้ามาอยู่ในร้านอินเตอร์เน็ต  โดยเฉพาะเจ้าของร้านและพนักงานจากพิษภัยของควันบุหรี่มือสอง  แต่ยังจะส่งผลให้เยาวชนสูบบุหรี่น้อยลงหรือไม่ริเริ่มการสูบบุหรี่  งานวิจัยนี้แสดงถึงว่าการให้ความรู้แก่ประชาชนเรื่องพิษภัยของการได้รับควันบุหรี่มือสองและกฎหมายห้ามสูบบุหรี่ในสถานที่สาธารณะยังคงต้องมีการทำกันอย่างจริงจังกว่านี้มาก เพราะทั้งสองปัจจัยนี้มีความสำคัญต่อการที่ประชาชนจะร่วมมือปฏิบัติตามกฎหมายห้ามสูบบุหรี่ในร้านอินเตอร์เน็ต