วอน ศธ.บรรจุหลักสูตร “ภัยยาสูบ” ช่วยต้านพิษให้ นร. – เยาวชน

คอลัมน์ความคิด 8 ธ.ค. 60 | เข้าชม: 2,301

มูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ ติดตามผลการศึกษาประเด็นการไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย โดยเฉพาะกรณีการห้ามจำหน่ายบุหรี่แก่เด็กและเยาวชน ซึ่ง EURO Monitor  International มีการวิจัยและวิเคราะห์ออกมาแล้วว่า หากไม่เน้นย้ำให้การศึกษาถึงพิษภัยและอันตรายของยาสูบแก่นักเรียนระดับมัธยม ส่งผลให้การสูบบุหรี่ของเยาวชนไทยไม่ลดลง

สำหรับ EURO Monitor  International ซึ่งรับทำการวิจัยและวิเคราะห์แนวโน้มตลาดบุหรี่ของประเทศไทยปรากฏว่า ยอดจำหน่ายบุหรี่ในประเทศไทยแทบไม่ลดลงเลย นับจากมีการขึ้นภาษีเมื่อ ค.ศ. 2016 เนื่องจากผู้เสพหันไปสูบบุหรี่ราคาถูก ที่บริษัทบุหรี่ผลิตออกมาทำการตลาดหลังขึ้นภาษี และมีการคาดการณ์อัตราการเติบโตของตลาดขายปลีกลดลงเพียงเล็กน้อย ส่วนอัตราการเติบโตของการลงทุน (CAGR) จะลดลงเฉลี่ยแค่ร้อยละหนึ่งต่อปีจนถึง ค.ศ.2021

ทั้งนี้ การสูบบุหรี่ของประชากรกลุ่มต่าง ๆ โดยเฉพาะวัยรุ่น ไม่น่าจะมีการเปลี่ยนแปลง  หลังพระราชบัญญัติควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ.2560  มีผลบังคับใช้ เนื่องจากร้านค้าขนาดเล็กส่วนใหญ่  ไม่มีการขอดูหลักฐานเพื่อยืนยันอายุที่แท้จริงของผู้ซื้อที่อายุน้อย  และจากการที่ประเทศไทยยังขาดการให้การศึกษาถึงพิษภัยของการสูบบุหรี่ในกลุ่มนักเรียนระดับมัธยม

ศ.นพ.ประกิต  วาทีสาธกกิจ  เลขาธิการมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ กล่าวว่า  มูลนิธิฯ มีความพยายามเสนอและผลักดันให้มีการบรรจุเนื้อหาพิษภัยและอันตรายของการสูบบุหรี่ ในหลักสูตรการเรียนการสอนในระบบโรงเรียนมาโดยตลอด แต่ยังไม่ประสบความสำเร็จ  ขณะเดียวกัน มูลนิธิฯจัดกิจกรรมมากมายเชิญชวนและร่วมกับโรงเรียนต่างๆ ทำโครงการ “โรงเรียนปลอดบุหรี่” เพื่อให้เป็นพื้นที่เขตปลอดบุหรี่ตามกฎหมาย  โดยให้นักเรียนมีส่วนในกิจกรรมรณรงค์ไม่สูบบุหรี่ ทั้งร่วมกันพัฒนาคู่มือการเรียนการสอนพิษภัยยาสูบสำหรับคุณครูนำไปใช้  แต่ยังมีโรงเรียนเข้าร่วมโครงการไม่มากนัก  เนื่องจากขาดการสนับสนุนด้านนโยบายจากกระทรวงศึกษาธิการ  จึงใคร่ขอเรียกร้องต่อกระทรวงศึกษาธิการกำหนดเป็นนโยบายที่ชัดเจน  ให้มีการบรรจุการเรียนการสอนเรื่องพิษภัยยาสูบในชั้นเรียนระดับต่าง ๆ เพื่อปกป้องเด็กและเยาวชนไทยจากการเสพติดบุหรี่

ทั้งนี้ อัตราการสูบบุหรี่ของเด็กไทยอายุ 13-15 ปี  เพศชายเท่ากับ 20.1%  เพศหญิง 3.8% สูงเป็นอันดับที่สามในกลุ่มประเทศอาเซียน รองจากอินโดนีเซียที่เพศชายเสพเท่ากับ 41% เพศหญิง  3.5%  และมาเลเซีย เพศชายสูบเท่ากับ 30.9%  และเพศหญิงเท่ากับ 5.3%  โดยอัตราการสูบบุหรี่ของเยาวชนไทยไม่ได้ลดลงใน 20 ปีที่ผ่านมา

 

ต้องการสอบถามข้อมูลและรายละเอียดเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ 0-2278-1828