รายงาน : แนวทางลดความเสี่ยง ทางเลือกเพื่อลดการสูญเสียที่มีศักยภาพ

คอลัมน์ความคิด 2 ต.ค. 57 | เข้าชม: 3,062

ในโลกที่ซับซ้อนทุกวันนี้ การตัดสินใจหลายครั้งนั้นเป็นไปอย่างเร่งรีบ เน้นทางเลือกที่สะดวกที่ง่ายๆ เข้าไว้ บางครั้งเลือกเพราะเห็นว่าเป็นสิ่งที่ดี สิ่งที่ถูกต้อง พร้อมด้วยอุดมการณ์ ซึ่งน่าเสียดายอย่างยิ่งว่าส่วนใหญ่ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นจริงๆ ก็ได้แค่เพียงสิ่งเพ้อฝันตามอุดมการณ์เท่านั้น คนส่วนใหญ่ยังมักตีกรอบตัวเองให้ตัดสินใจกันอย่างง่ายๆ ยึดมั่นตามอุดมการณ์จนลืมนึกไปถึงความเป็นไปได้ทั้งในทางปฏิบัติ หลักการและเหตุผล และความรับผิดชอบต่างๆ แน่นอนการยึดมั่นตามอุดมการณ์นั้นไม่ได้เป็นสิ่งที่แย่อะไร เพียงแต่มันไม่ใช่เหตุผลที่จะมองข้ามความเป็นจริงที่เกิดขึ้นรอบๆ ตัวเรา ซึ่งโดยส่วนมากแล้วการที่จะทำให้เป้าหมายประสบผลสำเร็จนั้นจำเป็นที่จะต้องตัดสินใจบนพื้นฐานของความเป็นจริงพร้อมทั้งเป้าหมายที่สามารถทำได้ด้วย

การทำรัฐประหารเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม ซึ่งนำมาสู่ คสช.และรัฐบาลชั่วคราวนั้นเป็นตัวอย่างที่ดีอย่างหนึ่ง การตัดสินใจในครั้งนั้นถึงแม้ว่าจะดูห่างไกลจากอุดมการณ์ประชาธิปไตยที่แท้จริง แต่นับหลังจากวันนั้นมาคนไทยเริ่มที่จะยอมรับและเข้าใจว่ามันอาจเป็นทางออกทางเดียวของประเทศที่สามารถทำได้ ณ เวลานั้น  ซึ่งได้พิสูจน์ให้เห็นถึงประสิทธิภาพในการยุติความขัดแย้งแล้วทำให้ประเทศชาติสามารถเดินต่อไปได้  การตัดสินใจทำรัฐประหารนั้นไม่ได้เป็นสิ่งง่ายและไม่ใช่ทางเลือกตามอุดมการณ์แต่วันนี้ก็เป็นที่ประจักษ์แล้วว่าสามารถยับยั้งการสูญเสียและลดความเสี่ยงจากอันตรายที่กำลังจะเกิดขึ้นกับไทยในขณะนั้นได้

หลักการลดความเสี่ยงก็เช่นเดียวกัน ซึ่งเป็นแนวคิดเพื่อบรรเทาหรือลดอันตรายที่พึงจะเกิดจากกิจกรรมซึ่งไม่สามารถที่จะป้องกันหรือหลีกเลี่ยงได้อย่างสิ้นเชิง ยกตัวอย่าง เช่น การใช้เข็มขัดนิรภัยและถุงยางอนามัยอย่างแพร่หลายในทุกวันนี้ แทนที่จะห้ามขับรถหรือห้ามมีเพศสัมพันธ์ การใช้เข็มขัดนิรภัยและถุงยางอนามัยสามารถลดจำนวนผู้เสียชีวิตได้มากมายทั่วโลกจากอุบัติเหตุบนท้องถนนและการแพร่หลายของโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เช่น เชื้อเอชไอวี เป็นต้น

หลักการคล้ายๆ กันนี้กำลังเป็นที่ถกเถียงกันในส่วนการบริโภคยาสูบ ทุกคนทราบดีว่าการสูบบุหรี่นั้นให้โทษ แต่คนส่วนใหญ่ก็ยอมรับว่าจะคงมีคนกลุ่มหนึ่งที่จะเลือกสูบบุหรี่ต่อไป  จากตัวเลขของสำนักงานสถิติแห่งชาติจะเห็นได้ว่าอัตราการสูบบุหรี่ในประเทศไทยตั้งแต่ปี 2550 นั้นค่อนข้างนิ่งอยู่ที่ประมาณร้อยละ 18.5 ซึ่งหมายความว่ามีจำนวนประชากรประมาณ 12 ล้านคนในประเทศไทยที่ไม่สามารถเลิกบุหรี่หรือยังคงเลือกที่จะสูบบุหรี่ต่อไป สถานการณ์นี้เกิดขึ้นทั้งๆ ที่ประเทศเรามีกฎหมายและมาตรการควบคุมการบริโภคยาสูบที่เข้มงวดเป็นอันดับต้นๆ ของโลก ประกอบกับหน่วยงาน เช่น สสส. ที่ได้รับเงินปีละเป็นพันๆ ล้านจากภาษีสรรพสามิตยาสูบมาใช้รณรงค์ต่อต้านการสูบบุหรี่

สำหรับคนที่สูบบุหรี่เป็นประจำนั้น การลดอันตรายหรือความเสี่ยงจากการบริโภคยาสูบจึงเป็นทางออกเดียวสำหรับผู้ที่ต้องพึ่งพานิโคติน แนวทางการลดอันตราย ได้แก่ การพัฒนาผลิตภัณฑ์ยาสูบรูปแบบใหม่ๆ เช่น บุหรี่ไฟฟ้าที่สามารถลดความเสี่ยงจากโรคภัยต่างๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับการบริโภคยาสูบได้ ซึ่งเป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ผู้เชี่ยวชาญด้านสาธารณสุขและนักวิทยาศาสตร์ชั้นนำ 53 คนจาก 15 ประเทศได้ร่วมส่งจดหมายเปิดผนึกถึงผู้อำนวยการองค์การอนามัยโลกให้เข้าใจถึงศักยภาพของบุหรี่ไฟฟ้าในการลดความเสี่ยงและอันตรายต่อสุขภาพ

เป็นเรื่องที่น่าเศร้าอย่างยิ่งที่กระทรวงสาธารณสุขไทยและนักรณรงค์เพื่อสุขภาพเลือกที่จะอยู่แต่ในโลกของความฝัน ด้วยแนวคิดโลกสวยที่ต้องห้ามหรือเลิกอย่างเด็ดขาดเพียงอย่างเดียวเท่านั้น โดยไม่คำนึงถึงความเป็นจริงว่าไม่ว่าจะด้วยเหตุใดก็ตามก็จะต้องมีคนที่สูบบุหรี่อยู่  ซึ่งกลุ่มคนเหล่านี้ไม่สนใจและปฏิเสธศักยภาพของนวัตกรรมใหม่ และเลือกที่จะห้ามบุหรี่ไฟฟ้าแทนที่จะนำนวัตกรรมใหม่นี้เป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์การลดโทษและอันตรายจากยาสูบ

มันเป็นเรื่องที่เข้าใจยากเหลือเกินว่าเพราะเหตุใดองค์กรรณรงค์เพื่อสุขภาพในประเทศไทย อย่างเช่น มูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ (ASH) ตั้งธงที่จะขัดขวางและปฏิเสธทางเลือกที่เป็นอันตรายน้อยกว่าสำหรับกลุ่มคนเหล่านี้ ในขณะที่มูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ในประเทศอังกฤษ (ASH UK) ซึ่งเป็นองค์กรลักษณะเดียวกัน กลับเลือกที่จะสนับสนุนการใช้บุหรี่ไฟฟ้าเพื่อลดโทษจากการสูบบุหรี่ มันไม่ใช่วัตถุประสงค์หลักของนักรณรงค์เพื่อสุขภาพหรอกหรือที่ต้องการลดโรคภัยที่เกิดจากการสูบบุหรี่แทนที่จะปฏิเสธและประณามกลุ่มผู้สูบบุหรี่ให้ต้องเสียชีวิตจากการบริโภคยาสูบอย่างต่อเนื่อง

เราไม่ได้อยู่บนโลกแห่งอุดมการณ์ และที่แย่ไปกว่านั้นคือ โลกของเรากลับดูห่างไกลจากอุดมการณ์ขึ้นไปทุกที เราไม่สามารถหลอกตัวเองได้อีกต่อไปว่าการตัดสินใจทุกอย่างต้องเป็นไปตามทิศทางตามอุดมคติเสมอ เราจำเป็นที่จะต้องปรับความเข้าใจในสิ่งเหล่านี้และมองทางเลือกที่สามารถทำได้จริง มีเหตุมีผล เป็นไปตามหลักมนุษยธรรม และอีกไม่นานเกินรอ พวกเราก็จะสามารถกลับมาบนเส้นทางที่จะนำเราไปสู่โลกในอุดมการณ์กันได้อีกครั้ง

 

ASTVผู้จัดการรายวัน ฉบับวันที่ 29 กันยายน พ.ศ. 2557