อาจารย์หมอชี้ "ควันบุหรี่" เป็นภัยเงียบ ก่อฝุ่น PM 2.5 มากกว่า "ควันดำรถดีเซล"

อันตรายจากบุหรี่ 31 ม.ค. 62 | เข้าชม: 4,273

เมื่อวานนี้ (30 ม.ค. 62) รศ.นพ.สุทัศน์ รุ่งเรืองหิรัญญา อาจารย์ประจำภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว) และประธานกรรมการที่ปรึกษาชมรมลมวิเศษ กล่าวในงานแถลงข่าว "ถอด N95 ร่วมแก้ปัญหาฝุ่นจิ๋ว" ว่า ปัญหาของฝุ่น PM 2.5 หลายคนมองว่ามาจากควันดำ ส่วนบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้าซึ่งเป็นควันสีขาวนั้นไม่เกี่ยว ซึ่งความจริงล้วนก่อให้เกิดฝุ่น PM 2.5 เหมือนกัน

ซึ่งมีผลการวิจัยเทียบกันง่ายๆ ระหว่างควันบุหรี่กับไอเสียรถยนต์ โดยทดลองนำรถดีเซลที่เป็นรถปิกอัพเครื่องยนต์ 2,000 ซีซี เข้ามาในโรงจอดรถแบบปิดขนาด 60 ตารางเมตร โดยจอดสตาร์ททิ้งไว้นาน 30 นาที เทียบกับบุหรี่ 3 มวน ที่จุดทิ้งไว้ในโรงรถขนาดเดียวกันต่อเนื่อง 30 นาที ผลการศึกษาพบว่า บุหรี่ 3 มวน ก่อให้เกิดค่าฝุ่น PM 2.5 สูงกว่าไอเสียจากรถยนต์ โดยสูงถึง 591.8 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร (มคก./ลบ.ม.) ขณะที่ไอเสียรถยนต์ดีเซลสูง 250.8 มคก./ลบ.ม.

รศ.นพ.สุทัศน์ กล่าวว่า บุหรี่ให้กำเนิดฝุ่นละอองขนาดเล็กเยอะกว่าท่อไอเสียมาก และทุกวันนี้คนไทยสูบบุหรี่เฉลี่ย 10.9 ล้านคน หรือทุกๆ 6 คน จะมีคนไทยสูบบุหรี่ 1 คน อยากให้ลองคิดว่า ฝุ่น PM 2.5 ที่เกิดจากการสูบบุหรี่นั้นควันจะเยอะมากแค่ไหน ส่วนบุหรี่ไฟฟ้าซึ่งคนมักจะเรียกว่า ไอ และมีความปลอดภัยกว่า ก็มีการศึกษาเช่นกัน โดยนักวิจัยไปเก็บข้อมูลงานโปรโมตขายบุหรี่ไฟฟ้าในต่างประเทศ ซึ่งมีผู้สูบประมาณ 59-86 คน ที่เดินเข้าออกอีเวนต์ฮอลล์ขนาด 4,000 ลูกบาศก์เมตร โดยวัดค่า PM 2.5 ใน 3 ช่วง คือ 1 วันก่อนจัดงาน วันจัดงาน และ 1 วันหลังจัดงาน

 
ผลปรากฏว่า ช่วงก่อนวันจัดงานค่า PM 2.5 เป็นปกติ แต่ขณะจัดงานค่าฝุ่นสูงมากกว่า 800 มคก./ลบ.ม. ซึ่งสูงกว่าระดับปลอดภัยรายปี 10 มคก./ลบ.ม. ถึงกว่า 80 เท่า ขณะที่หลังจากจัดงานเสร็จ ก็พบว่าค่าฝุ่นยังคงสูงอย่างต่อเนื่อง เรียกว่ายังมีการตกค้างหลงเหลือในสิ่งแวดล้อมที่อีเวนต์ฮอลล์นั้นอยู่ บ่งชี้ว่าไอของบุหรี่ไฟฟ้ามือสองและมือสามมีอยู่จริง และเป็นอันตรายต่อผู้คนได้ ขณะที่การทดสอบอาสาสมัครที่สูบบุหรี่ไฟฟ้า โดยสูบแล้ววัดระดับ PM 2.5 ในลมหายใจพบว่า สูงถึง 151.7 มคก./ลบ.ม. สูงกว่าถึง 15 เท่า และเมื่อทดสอบด้วยการอัดควันบุหรี่ไฟฟ้าภายในกล่องอะคริลิก แล้ววัดค่า ปรากฏว่าเกินกว่า 500 มคก./ลบ.ม. ซึ่งเป็นค่าสูงสุดที่เครื่องมือวัดได้ โดยหลังจากดูดควันออกจากกล่องและเช็ดทำความสะอาดแล้ว ค่าฝุ่น PM 2.5 ยังสูงถึง 130 มคก./ลบ.ม.

ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายในงานแถลงข่าวดังกล่าวยังมีการทดลองอัดควันบุหรี่ไฟฟ้าเข้ากล่องอะคริลิกและวัดค่าให้เห็นชัดๆ โดยปรากฏว่า ก่อนที่จะปล่อยไอควันบุหรี่ไฟฟ้าเข้าไป ค่าฝุ่น PM 2.5 ในห้องอยู่ที่ประมาณราว 70 มคก./ลบ.ม. แต่เมื่อเริ่มปล่อยควันค่าฝุ่นเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเกินกว่า 420 มคก./ลบ.ม. ทั้งที่เครื่องวัดยังอยู่ภายนอกกล่องอะคริลิก และเมื่อนำเครื่องเข้าไปในกล่อง ปรากฏว่าขึ้นสูงสุดไปถึง 500 มคก./ลบ.ม. ซึ่งเป็นค่าสูงสุดที่เครื่องสามารถวัดได้

 

Thai Post

สนับสนุนเนื้อหา